มีคนเคยตั้งคำถามว่า “เอาต์เลต” (outlet) ในเมืองไทย เหมือนหรือแตกต่างกับ “เอาต์เลต” ในต่างประเทศอย่างไร?
ก็ต้องยอมรับกันแบบใจเป็นกลางว่าเมื่อเทียบคุณภาพสินค้ากับราคา หรือแม้แต่แบรนด์ที่ขายอยู่ในเอาต์เลตคงเทียบชั้นกันไม่ได้ เพราะเอาต์เลตในเมืองไทย ขายแต่สินค้าโลคัลแบรนด์ แบรนด์ดีไซเนอร์ไทย แบรนด์ส่งออก หรือหรูหน่อยก็อินเตอร์แบรนด์เล็กๆ เช่น GAP, Superdry, ไนกี้, อาดิดาส, ลีวายส์, รีบอค เป็นต้น ที่ไม่ใช่ลักชัวรีแบรนด์เหมือนในต่างประเทศ
ที่สำคัญมีผู้ประกอบการเจ้าใหญ่ๆแค่ 2 รายเท่านั้น คือ “เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท” หรือที่คนไทยรู้จักดีในชื่อ “ฟลายนาว เอาต์เลต” ของกลุ่มบริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด (มหาชน) มีอยู่ 10 สาขา เปิดกระจายอยู่บนถนนเส้นทาง การเดินทางหลักทั่วประเทศ
ขณะที่อีกรายคือ “พรีเมียม เอาต์เลต” (Premium Outlet) เป็นธุรกิจในกลุ่มบริษัทพีน่าเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งภายใต้แนวคิด Factory OutletConcept มีทั้งแบรนด์ Outlet Mall, Premium Outlet และ Outlet Village มีจำนวนสาขาครอบคลุมอยู่ทั่วทุกภาครวม 9 สาขา แต่สินค้าที่ขายก็ล้วนแต่เป็นแบรนด์ในเครือฯ เช่น พีน่าเฮ้าส์ เอทูแซท (AllZ) เทนแอนด์โค (Ten&Co) และอินเตอร์แบรนด์เล็กๆ ในราคาลดสูงสุดถึง 70-80% ไม่นับรวมเอาต์เลตกีฬาที่มีเปิดขนาดเล็กๆ จิ๋วๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้ง Supersports, อาดิดาส และสเตเดียม วัน (Stadium One)
แม้ทั้ง 2 แบรนด์เอาต์เลตจะได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยมจากกลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ทั้ง 2 แบรนด์ก็เป็นแค่ Standard Outlet ไม่ใช่ Premium Outlet ที่พอจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้าขาช็อปให้ตั้งใจมาละลายทรัพย์ได้มหาศาลเหมือนในต่างประเทศ เพราะหากมีโอกาสขาช็อปไทยก็ยังอยากจะเหินฟ้าไปช็อปกระจายที่ Premium Outlet ในต่างประเทศ
ไม่ว่าจะเป็น “วู้ดเบอรี่ คอมมอน” พรีเมียม เอาต์เลตในมหานครนิวยอร์ก, “เดซเซิร์ท ฮิลส์” พรีเมียม เอาต์เลต ที่นครลอสแอนเจลิส, “โกเท็มบะ” พรีเมียม เอาต์เลต ในประเทศญี่ปุ่น ขณะที่นักท่องเที่ยวขาช็อปแบรนด์หรูจากต่างประเทศก็มีความคิดไม่ต่าง เพราะที่นั่นทั้งแบรนด์ ทั้งราคามันหลากหลาย ลดจริง และเร้าใจ!!!ด้วยเม็ดเงินมหาศาลของ Premium Outlet ในต่างประเทศ บวกกับพบตัวเลขขาช็อปไทยเดินทางไปใช้จ่ายกันแบบช็อปกระจายที่เอาต์เลตต่างๆทั่วโลก จนติดอันดับต้นๆของแต่ละแห่ง ยอดการใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าลักชัวรีแบรนด์ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น สวนทางกับเศรษฐกิจ และรายได้ต่อหัวของคนไทย
ดูจากข้อมูล ตัวเลขประมาณการตลาดสินค้าลักชัวรีในประเทศไทย โดย SCB EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ธนาคารจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็น “คลังสมอง” ของธนาคาร และเป็นศูนย์กลางความรู้ทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า ผู้บริหารและบุคลากรของธนาคารชี้ชัดว่ามูลค่ารวมตลาดสินค้าลักชัวรีมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2555 มีมูลค่า 569 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 17,639 ล้านบาท (ค่าเงินบาท 31 บาท)
และในปี 2557 มีมูลค่า 668 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 20,708 ล้านบาท เติบโต 8% โดยสินค้าลักชัวรีจากห้างฯและศูนย์การค้าได้รับความนิยมจากผู้บริโภคคนไทยมากที่สุด เติบโต 7% รองลงมาเป็นเสื้อผ้าและรองเท้าเติบโต 6% เครื่อง ประดับและนาฬิกาเติบโต 28% กระเป๋าเติบโต 9% เป็นต้น ตัวเลขดังกล่าวยังไม่นับรวมมูลค่าที่ผู้บริโภคคนไทยหอบเงินไปช็อปสินค้าลักชัวรีแบรนด์ในต่างประเทศ และแม่ค้าออนไลน์รับพรีออเดอร์หอบหิ้วกันมาขาย ซึ่งต่อปีน่าจะมีไม่น้อยเลยทีเดียว
ทำให้ทั้งกลุ่มเซ็นทรัล และสยามพิวรรธน์ มองเห็นโอกาสจึงขอแจมเปิด “พรีเมียม เอาต์เลต” กับเค้าด้วยเริ่มต้นปี 2561 กลุ่มเซ็นทรัลที่ประกาศเทงบกว่า 5,000 ล้านบาท ปักหมุดย่านสนามบินสุวรรณภูมิ บนที่ดินกว่า 100 ไร่ พื้นที่เช่า 40,000 ตารางเมตร บริเวณถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 14 เปิด “เซ็นทรัล วิลเลจ” ลักชัวรีเอาต์เลต มาตรฐานโลกในประเทศไทย ขายสินค้าถูกกว่าช็อป 35-70% ซึ่งมีเป้าหมายเปิดให้บริการไตรมาส 3 ปี 2562
พอกลางปีกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน ก็ประกาศร่วมทุนกับกลุ่มไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป เจ้าของห้างดังและเอาต์เลต ระดับพรีเมียมอยู่ในพอร์ตโฟลิโอ รวมกันมากกว่า 230 แห่ง ใน 12 ประเทศทั่วโลก ของนายเฮอร์เบิร์ต ไซมอน เฮิร์บ สามีปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก อดีตนางงามจักรวาลของไทย เปิด “อินเตอร์เนชั่นแนล ลักชัวรี เอาต์เลต” 3 แห่ง ใน 3 จังหวัดในประเทศไทย ภายใน 3 ปีนับจากนี้ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท โดยจะเห็นสาขาแรกในกรุงเทพฯ ขนาด 150 ไร่ พื้นที่เช่า 50,000 ตารางเมตร เดือน ต.ค.2562 จากนั้นก็ลุยปักหมุดเปิดแห่งที่ 2 และ 3 ในจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคใต้ต่อทันที
ซึ่งต่างก็คาดหวังให้ทั้ง “เซ็นทรัล วิลเลจ” และ “อินเตอร์เนชั่นแนล ลักชัวรี เอาต์เลต” ของตัวเองเป็นจุดหมายปลายทางของการช็อปปิ้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผลักดันให้ไทยบรรลุเป้าหมายเป็นที่สุดแห่งจุดหมายปลายทางของการช็อปปิ้งระดับโลกอีกแห่งในอนาคต.
พนารัตน์ ธงไชยฤทธิ์