กสทช.ผิดหวังค่ายมือถือโดดร่มประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ พุ่งเป้าดีแทคเพราะเชื่อว่าจะเข้าประมูลแน่ ประกาศจะไม่ให้สิทธิ์เยียวยาใช้คลื่น 1800 และ 850 ต่อหลังหมดสัมปทาน ด้านเอไอเอสโดดอุ้ม พร้อมให้โรมมิ่งคลื่น 900 บริการลูกค้า เพราะดีแทคเคยช่วยเอไอเอสตอนพลาดประมูลคลื่น 900
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่สุดก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย ประกอบด้วย บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ได้ประกาศไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมายื่นเอกสารการประมูลในวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา
โดยกลุ่มทรูได้ประกาศไม่เข้าร่วมประมูลตั้งแต่ วันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ดีแทคและเอไอเอส รอจนกระทั่งถึงกำหนดยื่นเอกสารการประมูล โดยดีแทคส่งหนังสือแจ้งสื่อมวลชนตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้า หลังบอร์ดมีมติเมื่อคืนวันที่ 14 มิ.ย. ขณะที่เอไอเอสแจ้งหลังประชุมบอร์ดเสร็จในช่วงเที่ยงของวันที่ 15 มิ.ย.
ต่อมาพลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. ได้แถลงข่าวว่า เมื่อไม่มีผู้ประกอบการเข้าประมูล ก็ถือเป็นความรับผิดชอบที่ กสทช.ต้องทบทวนหลักเกณฑ์และประกาศต่างๆ แต่ไม่สามารถปรับลดราคาเริ่มต้นการประมูลลงได้แน่ เพราะจะไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการรายอื่น ที่ประมูลคลื่น 1800 ในราคาที่สูงไปก่อนหน้านี้แล้ว
โดยประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไขและทบทวน คือ ประกาศเรื่องมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการเนื่องจากเป็นการเปิดประมูลก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด โดยสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และดีแทค จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย. 61 นี้ ขณะที่ กสทช.ได้เปิดประมูลก่อนสัญญาจะสิ้นสุดถึง 3 เดือน จึงจะมีเวลาเพียงพอต่อการย้ายโอนลูกค้าเดิมที่เหลืออยู่ราว 470,000 เลขหมาย ไปให้บริการบนคลื่นอื่น ไม่ให้เกิดปัญหาซิมดับ และเมื่อดีแทคแจ้งว่ามีคลื่นเพียงพอจึงไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น ก็ไม่ควรได้รับสิทธิ์เยียวยา โดยจะนำเรื่องดังกล่าวหารือในที่ประชุมบอร์ด กสทช. อีกครั้งในวันที่ 27 มิ.ย.นี้
ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กำหนดการประมูลคลื่น 1800 ในวันที่ 4 ส.ค. จะไม่เกิดขึ้นแล้วอย่างแน่นอน หลังจากนี้ กสทช.ต้องเสนอทบทวนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลใหม่ เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้รับใบอนุญาตและเสนอบอร์ดพิจารณาต่อไป โดยจะทำรายงานเสนอรัฐบาลภายใน 1-2 วันนี้ “ปัญหาหลักของการไม่เข้าร่วมประมูล เนื่องจากค่ายมือถือยังมีความเข้าใจว่าหากไม่มีใครไม่เข้าประมูลหรือไม่ได้นำคลื่นออกมาประมูล ก็มีสิทธิ์ได้ใช้คลื่นตามมาตรการเยียวยา แต่เมื่อ กสทช. เปิดประมูลคลื่นก่อนสัญญาสัมปทานสิ้นสุด สิทธิ์ในการใช้คลื่นก็ไม่ควรมีอีกต่อไป”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การโดดร่มหนีประมูลในครั้งนี้ กสทช.พุ่งเป้าไปที่ดีแทคเป็นหลัก เนื่องจากหวังว่าดีแทคจะต้องเข้าร่วมประมูล เพราะเป็นคลื่นเดิมที่กำลังจะหมดสัมปทาน และเมื่อสัมปทานหมดลงหากไม่เข้าประมูล ดีแทคจะกลายเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่ไม่มีคลื่น 1800 ไว้ให้บริการ ขณะที่เอไอเอสและทรูประมูลได้คลื่น 1800 ไปแล้วเมื่อ กลางปี 2558 กสทช.จึงคาดหวังมากว่าดีแทคจะเข้าประมูลคลื่นเพื่อนำเงินเข้ารัฐ
ด้านนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารดีแทค กล่าวว่า ดีแทคมีคลื่นย่านความถี่สูงเพียงพอแล้ว ทั้งคลื่น 2100 และ 2300 จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องเข้าประมูล ประกอบกับราคาและเงื่อนไขไม่ได้เอื้อประโยชน์นัก อย่างไรก็ตาม หาก มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการประมูล ก็พร้อมที่จะพิจารณาทุกอย่างใหม่ ส่วนกรณีสัมปทานบนคลื่น 1800 และ 850 จะหมดอายุลงนั้น ดีแทคได้ยื่นขอให้บริการต่อตามแผนเยียวยาลูกค้าไม่ให้เกิดปัญหาซิมดับแล้ว ซึ่งทั้งทรูและเอไอเอสก็เคยได้สิทธิ์นี้ ดีแทคก็ควรจะได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้ายที่สุด หาก กสทช.ไม่ให้ใช้คลื่นต่อ ดีแทคก็จะพิจารณาให้บริการลูกค้าที่เหลือผ่านการโรมมิ่งบน คลื่น 900 ของเอไอเอส
ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอส กล่าวว่า ผลการศึกษาจากที่ปรึกษาหลายรายสรุปได้ว่าเอไอเอสยังคงแข่งขันได้และคงความเป็นเบอร์ 1 โดยที่ยังไม่จำเป็นต้องเข้าประมูลเพื่อให้ได้คลื่นใหม่ อย่างไรก็ตาม หากเงื่อนไขมีการปรับเปลี่ยนก็พร้อมที่จะกลับมาพิจารณาอีกรอบว่าจะเข้าประมูลหรือไม่
นายสมชัยกล่าวอีกว่า ได้มีการหารือกับดีแทคแล้ว กรณีการให้โรมมิ่งบนคลื่น 900 ของเอไอเอส เพื่อให้บริการลูกค้าบนคลื่น 1800 และ 850 หลัง สัมปทานของดีแทคหมดอายุ และไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นต่อ เนื่องจากตอนคลื่น 900 ของเอไอเอสหมดสัมปทาน ดีแทคก็พร้อมจะช่วยเหลือ ด้วยการให้โรมมิ่งกับคลื่น 850 ของดีแทค เพราะขณะนั้นเอไอเอสพลาดการประมูลคลื่น 900 ไป เพราะพ่ายแพ้ต่อทรูและแจสโมบาย.