ด่วน! เอไอเอสเดินตามดีแทค ทรู ไม่ประมูล 1800

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ด่วน! เอไอเอสเดินตามดีแทค ทรู ไม่ประมูล 1800

Date Time: 15 มิ.ย. 2561 13:14 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • เอไอเอสประกาศไม่ประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เช่นเดียวกับดีแทค และทรูมูฟ ที่ประกาศก่อนหน้านี้ รอลุ้นกสทช.ปรับเงื่อนไขภายใน 30 วัน

Latest


เอไอเอสประกาศไม่ประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เช่นเดียวกับดีแทค และทรู ที่ประกาศก่อนหน้านี้ รอลุ้นกสทช.ปรับเงื่อนไขภายใน 30 วัน


บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) โดยนายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (15 มิ.ย.) ว่า บริษัทตัดสินใจไม่ประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช. ดำเนินการจัดประมูล

เหตุผลที่ไม่เข้าประมูล เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลครั้งนี้ไม่เหมาะสมต่อการลงทุน หรือก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทในขณะนี้ โดยบริษัทยังคงลงทุนโครงข่ายเพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านคุณภาพโครงข่าย และสามารถให้บริการลูกค้าอย่างมีคุณภาพได้ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะติดตามสถานการณ์และเงื่อนไขเกี่ยวข้องกับการประมูลที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงอาจพิจารณาผลกระทบและการตัดสินใจเกี่ยวกับการประมูลที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อไป

ขณะเดียวกันเมื่อเช้าที่ผ่านมา ดีแทค ได้ประกาศไม่ร่วมประมูล ส่วนกลุ่มทรูประกาศตั้งแต่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ไม่ประมูลด้วยเช่นกัน

ทางด้านความเคลื่อนไหวของกสทช.จากนี้ ภายใน 30 วันจะทบทวนหลักเกณฑ์การประมูลต่อไป

สำหรับเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ครั้งนี้ กสทช.เตรียมไว้ 45 MHz แบ่งเป็น 3 ชุด ชุดละ 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต โดยผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 1 ชุดคลื่นความถี่ กำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลไว้ที่ 37,457 ล้านบาท และกำหนดหลักประกันการประมูล เท่ากับ 1,880 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งก่อน โดยใช้สูตร N-1 คือมีผู้ประมูลเกินใบอนุญาตอย่างน้อย 1 ราย

ใบอนุญาตมีระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี ราคาที่เพิ่มต่อการเคาะในแต่ละครั้ง 75 ล้านบาท หากมีการทิ้งการประมูล สำนักงาน กสทช. จะยึดหลักประกันการประมูล 1,880 ล้านบาท และการคิดค่าปรับอีก 5,620 ล้านบาท เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,500 ล้านบาท


ทางด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้นของดีแทค ปิดตลาดช่วงเช้า 46.25 บาท ลดลง 3 บาท ลดลงร้อยละ 6.09 เพราะนักลงทุนกังวลเรื่องคลื่นที่น้อยกว่าหากไม่มีคลื่นความถี่ใหม่มาเพิ่ม ขณะที่เอไอเอส 192.50 บาท บวก 3.50 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.85 ส่วนทรู 6.75 บาท บวก 0.15 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.27 เพราะมีคลื่นอยู่รายละมากกว่า 50 MHz


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ