ตรึงราคาแก๊สหุงต้ม มติกบง.ช่วย '7.5 ล้านครัวฯ'

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ตรึงราคาแก๊สหุงต้ม มติกบง.ช่วย '7.5 ล้านครัวฯ'

Date Time: 13 มิ.ย. 2561 04:01 น.

Summary

  • กบง.สั่งตรึงราคาขายปลีกแก๊สหุงต้มครัวเรือน รวมทั้ง กลุ่มผู้ใช้หาบเร่แผงลอย ร้านขายอาหารขนาดเล็ก จนถึงสิ้นปีเพื่อลดค่าใช้จ่ายประชาชน พร้อมมอบให้กระทรวงการคลังไปจัดระเบียบภาษีสรรพสามิตน้ำมัน..

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ถัง 15 กก.เหลือ 363 ถึงสิ้นปี หาบเร่แผงลอย-เพียง 325 จัดระเบียบภาษีรับมือบี20

กบง.สั่งตรึงราคาขายปลีกแก๊สหุงต้มครัวเรือน รวมทั้ง กลุ่มผู้ใช้หาบเร่แผงลอย ร้านขายอาหารขนาดเล็ก จนถึงสิ้นปีเพื่อลดค่าใช้จ่ายประชาชน พร้อมมอบให้กระทรวงการคลังไปจัดระเบียบภาษีสรรพสามิตน้ำมันใหม่รองรับน้ำมันไบโอดีเซลไม่เกิน 20% หรือบี 20 ที่จะออกมาในเดือน ก.ค. ลดต้นทุนรถโดยสารสาธารณะ

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบแนวทางลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในส่วนของแก๊สหุงต้ม (แอลพีจี) ด้วยการตรึงราคาจำหน่ายแอลพีจีภาคครัวเรือนที่ระดับ 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) และในส่วนราคาแอลพีจีกลุ่มหาบเร่แผงลอย ร้านขายอาหารขนาดเล็ก กลุ่มเอสเอ็มอี ให้ลดราคาจำหน่ายเหลือเพียง 325 บาทต่อถังขนาด 15 กก. ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. โดยผู้ได้รับ ประโยชน์คือกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย 7.5 ล้านครัวเรือน ร้านค้าหาบเร่แผงลอย 395,544 ร้านคิดเป็นวงเงินเดือนละ 49 ล้านบาท เงินดังกล่าวบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับภาระชดเชยแทนประชาชนกลุ่มนี้ มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.

นายทวารัฐกล่าวว่า กบง.ยังมีมติปรับอัตราเงินชดเชยน้ำมันอี 20 และอี 85 ลง 0.37 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาน้ำมันอี 20 จากชดเชย 3.00 บาทต่อลิตรเป็น 2.63 บาทต่อลิตร และอี 85 จากชดเชย 9.35 บาทต่อลิตรเป็น 8.98 บาทต่อลิตร ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มการจัดเก็บน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อีก 0.37 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินจากเดิมเก็บเข้ากองทุน 6.31 บาทต่อลิตร จะเป็น 6.68 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 เดิมเก็บ 0.35 บาทต่อลิตร จะเป็น 0.72 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 เดิมเก็บ 0.35 บาทต่อลิตรจะเป็น 0.72 บาทต่อลิตร

ผอ.สนพ.ยังกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กบง.ยังได้หารือถึงแนวทางการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันบี 20 ที่เตรียมออกสู่ตลาดเดือน ก.ค. กำหนดราคาขายปลีกถูกกว่าน้ำมันดีเซลบี 7 อัตรา 3 บาทต่อลิตร มอบให้กรมสรรพสามิต ไปจัดทำข้อมูลเสนอให้คณะรัฐมนตรี ให้มีการลดอัตราเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซลบี 20 ลงเหลือ 5.1523 บาทต่อลิตร จากฐานภาษีน้ำมันดีเซลทุกชนิด (บี 3 บี 5 และบี 7) อัตรา 5.85 บาทต่อลิตร และจะเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลบี 7 อีก 0.14 บาทต่อลิตร เป็นจัดเก็บ 5.9895 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ได้กระทบรายได้ประเทศมากนัก ขณะเดียวกัน จะลดภาระประชาชนที่ภาษีสรรพสามิตดีเซลบี 7 สูงขึ้น ดังนั้นกองทุนน้ำมันจะเข้าไปชดเชยให้ในอัตรา 0.14 บาทต่อลิตรแทน คาดว่าจะมีผลตั้งแต่ ครม.เห็นชอบ

“เหตุผลสำคัญที่ กบง.มีมติทั้งหมดนี้ ก็เพื่อ ต้องการสำรองเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ระดับ 30,000 ล้านบาทเพื่อเตรียมพร้อมรองรับน้ำมันขาขึ้นในช่วงปลายปี โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลซึ่งรัฐบาลจะรักษาเสถียรภาพราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรซึ่งเงินกองทุนน้ำมันฯ 30,376 ล้านบาทสามารถตรึงได้ยาวถึงสิ้นปี”

นายทวารัฐกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กบง.ยังมีมติสนับสนุนการผลิตและการใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลไม่เกิน 20% หรือบี 20 ให้มีราคาต่ำกว่าบี 7 ลิตรละ 3 บาท เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนค่าบริการขนส่งและค่าโดยสารสาธารณะ ในเดือน ก.ค. โดยให้กรมสรรพสามิต ไปพิจารณาลดอัตราเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันบี 20 ให้เหลือ 5.15 บาทต่อลิตร การลดภาษีดังกล่าวมีผลต่อรายรับของประเทศ จึงให้กรมสรรพสามิตพิจารณาเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมัน ดีเซลอีก 0.14 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้ผู้ใช้น้ำมันดีเซลได้รับผลกระทบจากการเพิ่มภาษีจึงมีมติให้กองทุนน้ำมันชดเชยราคาน้ำมันดีเซลในอัตรา 0.14 บาทต่อลิตร

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม กบง.ยังมีมติรับทราบการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ แบ่งเป็น 3 ระยะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกอบด้วยระยะที่ 1 สนับสนุนความร่วมมือระหว่าง กฟผ.และกลุ่มเอสซีจี เพื่อพัฒนาระบบทุ่นลอยน้ำและระบบยึดโยง เพื่อเป็นต้นแบบของการผสมผสานการผลิตไฟฟ้าระหว่างเซลล์แสงอาทิตย์กับไฟฟ้าจากเขื่อน กำลังการผลิต 500 กิโลวัตต์ ที่เขื่อนท่าทุ่งนา กาญจนบุรี พื้นที่ 5 ไร่แล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. ระยะที่ 2 เป็นการต่อยอดของระยะที่ 1 เพื่อพัฒนาให้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้ระบบเชื่อมต่อที่มีอยู่เดิมเริ่มจากโครงการผลิตไฟฟ้าบนทุ่นลอยน้ำเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ พื้นที่ 450 ไร่ ผลิตไฟฟ้าปีละ 89 ล้านหน่วย และระยะที่ 3 การนำระบบดังกล่าวไปติดตั้งในเขื่อน 11 แห่งทั่วประเทศ กำลังการผลิตรวม 1,000 เมกะวัตต์ ในเขื่อน กฟผ. เขื่อนของกรมชลประทาน และอ่างเก็บน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ การใช้ผิวน้ำทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดไม่เป็นการแย่งพื้นที่เกษตรกรรม แผงเซลล์แสงอาทิตย์ยังผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นเพราะอุณหภูมิที่ลดลงจากการอยู่ใกล้ผิวน้ำ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ