นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้รับรายงานจากสภาเกษตรกร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ว่า มีการเปลี่ยนการขนย้ายพันธุ์ทุเรียน ซึ่งเป็นพืชสงวนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พันธุ์พืชปี 2518 ณ ด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ไปตรวจสอบบริเวณที่ได้รับการร้องเรียนดังกล่าว โดยพบบริเวณบ้านพักตามที่ได้รับแจ้งมีการกักเก็บต้นพันธุ์ทุเรียนจำนวนมาก รวมถึงต้นพันธุ์มะขาม ลำไย มะนาว ชมพู่ และไม้ผลอื่นๆ
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมีการลักลอบส่งออกต้นพันธุ์ทุเรียนตามที่ได้รับรายงาน เนื่องจากพบเห็นต้นพันธุ์ทุเรียนในเขตด่านสิงขร ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่เขตปลูกทุเรียนและหากมีการลักลอบส่งออกไปฝั่งประเทศเพื่อนบ้านแสดงว่าจะต้องมีพื้นที่ปลูกจำนวนมากและมีที่พักสินค้าเพื่อรอการขนย้าย รวมทั้งยังพบว่ามีการใช้รถยนต์ที่ไม่มีแผ่นป้ายทะเบียนรอการขนส่ง นอกจากนี้ อาจมีความเป็นไปได้ที่จะขนส่งทางช่องทางอื่น โดยไม่ผ่านการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
“เบื้องต้นได้ข้อมูลว่าผู้ส่งออกเป็นคนไทยพลัดถิ่นคือ เมียนมาสัญชาติไทยและนำต้นพันธุ์ทุเรียนมาจากแหล่งอื่น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการปลูกทุเรียนเพราะสภาพดินและน้ำไม่เหมาะสม นอกจากนี้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ศุลกากร ได้รับแจ้งว่าไม่มีการส่งออกพันธุ์ทุเรียนหรือพืชสงวนอื่นๆ แต่อย่างใด”
นอกจากนี้ ยังได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบที่ด่านตรวจพืชจังหวัดระนอง และด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทุกวัน เพื่อเฝ้าระวังและปราบปรามผู้กระทำความผิดพร้อมจัดทำป้ายเตือนทั้งภาษาไทยและเมียนมา สำหรับบทลงโทษผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ซึ่งจุดมุ่งหมายที่มีการกำหนดพืชสงวนขึ้นใน พ.ร.บ.พันธุ์พืชดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าหากพันธุ์พืชเหล่านี้ถูกนำไปปลูกในต่างประเทศแล้วจะกลับมาเป็นคู่แข่งทางการค้าได้จึงห้ามส่งออก สำหรับพืชสงวนมีทั้งสิ้น 11 ชนิด คือ ทุเรียน ส้มโอ องุ่น ลำไย ลิ้นจี่ มะขาม มะพร้าว กวาวเครือ ทองเครือ สละ และสับปะรด.