ขอบีโอไอลงทุนหุ่นยนต์คึกคัก สิ้นปีใช้ในภาคผลิตทะลุ 15,000 ตัว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขอบีโอไอลงทุนหุ่นยนต์คึกคัก สิ้นปีใช้ในภาคผลิตทะลุ 15,000 ตัว

Date Time: 30 พ.ค. 2561 10:30 น.

Summary

  • นักลงทุนไทยเทศต่อคิวลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายคึกคัก อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ยานยนต์อนาคต และอากาศยาน ได้รับความสนใจมากที่สุด ตั้งเป้าตามแผนประเทศ...

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%



นักลงทุนไทยเทศต่อคิวลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายคึกคัก อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ยานยนต์อนาคต และอากาศยาน ได้รับความสนใจมากที่สุด ตั้งเป้าตามแผนประเทศ ไทยจะมีการใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตเพิ่มเป็น 15,000 ตัว จากปัจจุบัน 5,000 ตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้นักลงทุนทั้งในและต่างชาติ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม ที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้เกิดการลงทุน อาทิ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, การผลิตอากาศยาน, ยานยนต์แห่งอนาคต, เครื่องมือแพทย์ ฯลฯ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อากาศยาน และยานยนต์แห่งอนาคต รวมทั้งเทคโนโลยีปลั๊กอินสำหรับชาร์จไฟฟ้า ให้กับรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ต่างอยู่ระหว่างยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ภายหลัง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ พ.ร.บ.อีอีซี ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆนี้ และรัฐบาลยังมีความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะมีการประกาศเชิญชวนนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ เข้าร่วมประกวดราคาวันที่ 30 พ.ค.นี้

ด้านนายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และที่ปรึกษาอาวุโส ตัวแทนกลุ่มบริษัทเดนโซ่ กล่าวว่า ระหว่างปี 60-61 รัฐบาลญี่ปุ่นโดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยผ่านกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยเมติได้มอบหมายให้เดนโซ่ญี่ปุ่น เป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี และล่าสุดเดือน ส.ค.นี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม จะหารือร่วมกับ นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รมว.เมติ จึงต้องติดตามว่าจะมีการกำหนดแนวทางความร่วมมือระยะที่ 2 ปี 61-62 ในรูปแบบใด “การจะพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในไทยให้สำเร็จ สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างความต้องการใช้ ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ก่อน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังมีการสร้างหุ่นยนต์ เพื่อใช้งานในภาคอุตสาหกรรมน้อยมาก เพราะขาดบุคลากรที่เข้ามาควบคุมระบบ หากมีการใช้งานเกิดขึ้นจริงๆ”

นายถาวร กล่าวต่อว่า ภาคเอกชนทั้งฝ่ายไทยและเดนโซ่ จึงอยู่ระหว่างร่วมกับสถาบันการศึกษาในการผลิตช่างที่ชำนาญในอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันผลิตได้จำนวนหนึ่งแล้ว โดยตามแผนคาดว่าสิ้นปีนี้ ประเทศไทยจะมีการใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตเพิ่มเป็น 15,000 ตัว จากปัจจุบัน 5,000 ตัว โดยอยู่ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คือ รถยนต์และชิ้นส่วน 70-80% และปี 62 จะมีบริษัทต่างชาติรายใหญ่ ซึ่งลงทุนในไทยอยู่ก่อนแล้ว เข้าลงทุนโรงงานประกอบหุ่นยนต์เป็นรายแรกของประเทศ ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนา ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาราว 10 ปี จึงจะสำเร็จ

ขณะที่ น.ส.รัชนี วัฒนวิศิษฏพร กงสุลผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน บีโอไอ นครแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี กล่าวว่า นักลงทุนสหภาพยุโรปให้ความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซีอย่างมาก โดยอุตสาหกรรมที่มาแรงที่สุดคือ อากาศยาน ล่าสุดมีเอกชนสนใจถึง 4 ราย โดย ยื่นขอรับการส่งเสริมลงทุนชิ้นส่วนอากาศยานแล้ว 1 ราย จากสาธารณรัฐเช็ก และยังมีอีก 3 รายอยู่ระหว่างเตรียมลงทุนศูนย์ซ่อมสร้างอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ภายหลังแอร์บัสยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมอากาศยาน ประกาศเข้ามาลงทุนในไทย เพื่อให้ที่สุด มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งปีได้ตามเป้าหมาย 700,000 ล้านบาท

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บริษัทบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า ล่าสุด บีเอ็มฯได้ยื่นคำขอส่งเสริมการลงทุนปลั๊กอินไฮบริดแล้ว และอยู่ระหว่างติดตามว่า บอร์ดบีโอไอจะอนุมัติช่วงใด เพื่อเดินหน้าตามแผนต่อไป ส่วนการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า ยังต้องติดตามตลาดเมืองไทย ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคและความพร้อมของสถานีชาร์จอีกครั้ง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ