สภาพัฒน์แถลงเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 4.8 สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส ปรับเป้าปี 61 โตเพิ่มเป็นสูงสุดร้อยละ 4.7 แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง น้ำมันแพง ดอกเบี้ยขึ้น และเศรษฐกิจโลก
นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แถลงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค.61) ว่าเติบโตร้อยละ 4.8 สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส หรือ 5 ปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.0% และไตรมาสแรกปีที่แล้วเติบโตเพียงร้อยละ 3.4
สำหรับจีดีพีที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาคือเมื่อไตรมาส 1 ปี 2557 ที่ติดลบร้อยละ 0.4
สาเหตุที่จีดีพีไตรมาสแรก ปี 2561 เติบโตสูงกว่าคาดการณ์ เพราะปัจจัยการเติบโตของทุกกลไกทางเศรษฐกิจ ทั้งการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐบาล การสะสมทุนถาวรทั้งภาคเอกชน และรัฐ การส่งออก และการนำเข้า โดยการนำเข้าเติบโตถึงร้อยละ 9 ส่วนที่เติบโตน้อยสุดคือภาครัฐบาลเพียงร้อยละ 1.9
สภาพัฒน์จึงได้ปรับคาดการณ์จีดีพี ปี 2561 เป็นเติบโต 4.2-4.7% จากเดิมคาดการณ์ไว้ในช่วง 3.6-4.6% เงินเฟ้อร้อยละ 0.7-1.7
ปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ คือเศรษฐกิจโลก และระดับราคาสินค้าในตลาดโลก ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมขยายตัว นอกจากนี้ยังมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐยังอยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนตามการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในสาขาอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน จากความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และการปรับตัวดีขึ้นและการกระจายตัวมากขึ้นของฐานรายได้ประชาชนในระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 8.9% การบริโภคภาคเอกชนและการสะสมทุนถาวรรวมขยายตัว 3.7% และ 4.7% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.7-1.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.4% ของจีดีพี
ส่วนปัจจัยเสี่ยงปีนี้ ยังมีเรื่องราคาสินค้า ราคาน้ำมัน และดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และความผันผวนจากระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก