รอเกณฑ์ใหม่คุมสินทรัพย์ดิจิทัล
ก.ล.ต.ประกาศชัด! ใครออก ICO ขณะนี้ผิดกฎหมาย ขอเวลาออกเกณฑ์คุม “สินทรัพย์ดิจิทัล” ให้เสร็จสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ พร้อมจับผู้ประกอบธุรกิจขึ้นทะเบียนใน 90 วัน เอาโทษปั่นราคา–ใช้ข้อมูลภายในเหมือนหุ้น “รพี” ย้ำอีกครั้ง ลงทุนมีความเสี่ยงสูงมาก ด้าน “สรรพากร” เล็งเก็บภาษีบุคคลนิติบุคคล 15%
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า วานนี้ (15 พ.ค.) นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายสาโรช ทองประคำ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.กุลยา ตันติเตมิท โฆษกกระทรวงการคลัง ได้แถลงข่าวพระราช กำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2561 เรื่องการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา
โดยนายรพีกล่าวว่า หลังจากที่ พ.ร.ก.ดังกล่าว ประกาศใช้เพื่อกำกับดูแลการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO) รวมทั้งการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ทำให้การขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ต่อประชาชนจะทำได้เฉพาะนิติบุคคลประเภท บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน จำกัด ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. โดยเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ที่ได้ รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.เท่านั้น และขณะนี้อยู่ระหว่างการออกกฎเกณฑ์ ดังนั้น การระดมทุนด้วยการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ประชาชนครั้งแรก ในขณะนี้จะยังไม่สามารถดำเนินการได้จนกว่า ก.ล.ต.จะออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเสร็จเรียบร้อย
“ใครหรือบริษัทใดที่จะออก ICO จากนี้ไปไม่สามารถทำได้ และถือว่าผิดกฎหมาย โดยในช่วงระหว่างที่ออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ทาง ก.ล.ต.จะเปิดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความ คิดเห็นจากประชาชนที่มีต่อกฎหมายดังกล่าวในวันที่ 21 พ.ค.นี้ และใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ใครที่เคยทำหรือออก ICO ไปแล้วไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง โดยคาดว่าหลักเกณฑ์จะเสร็จในสิ้นเดือน มิ.ย. และเดือน ก.ค.เป็นต้นไปน่าจะเริ่มดำเนินการได้”
ทั้งนี้ การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนที่จะออกเป็นหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต.นั้น จะมีการรับฟังความคิดเห็นในหลายประเด็น เช่น การจำกัดประเภทของนักลงทุน, การกำหนดวงเงินลงทุนของผู้ลงทุน เช่น จำนวนที่จะซื้อในแต่ละครั้งว่าไม่เกินเท่าไร เป็นต้น ขณะเดียวกัน ผู้ที่ประกอบธุรกิจเหล่านี้อยู่แล้วก่อนวันที่ พ.ร.ก.นี้มีผลใช้บังคับ ต้องยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจภายใน 90 วัน หรือภายในวันที่ 14 ส.ค.2561
นายรพีกล่าวต่อว่า ในส่วนของการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลจะสามารถเอาผิดได้ในลักษณะเทียบเคียงกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่น การบอกกล่าว เผยแพร่ เปิดเผยข้อความที่เป็นเท็จทำให้สำคัญผิด การใช้ข้อมูลภายใน การซื้อขายตัด หน้าลูกค้า การสร้างราคา เป็นต้น รวมถึงมีความผิดเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนั้น แม้ว่าการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับการอนุญาตและมีมาตรฐานตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต.แล้ว แต่ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าธุรกิจที่นำเงินจากการระดมทุนไปใช้จะประสบความสำเร็จ เพราะในทางกลับกันในต่างประเทศการดำเนินธุรกิจประเภทนี้มีมากกว่า 90% ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น การลงทุนจึงถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก และ พ.ร.ก.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยเท่านั้น
“การผ่านการอนุญาตจาก ก.ล.ต.ไม่ได้หมาย ความว่าจะไม่ขาดทุน หรือขาดทุนน้อย แต่อย่างน้อยก็ยืนยันได้ว่าธุรกิจผ่านเกณฑ์แล้ว มีตัวตน มีหนังสือชี้ชวน (White Paper) ที่สามารถแนะนำตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งช่วยแยกผู้ระดมทุนโดยสุจริตออกจากพวกแชร์ลูกโซ่ได้ และสิ่งสำคัญอยากเตือนนักลงทุนคือ สินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากมูลค่ามีการปรับขึ้นลงอย่างหวือหวาตลอดเวลา อีกทั้งไม่มีผลประกอบการมาสนับสนุน ซึ่งขึ้นกับบรรยากาศการลงทุนล้วนๆ ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจึงมีหลายระดับมาก”
ด้านนายสาโรช ทองประคำ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสรรพากร กล่าวว่า ใน พ.ร.ก.การจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 นั้น มีการกำหนดเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากกำไรหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการถือครองคริปโตเคอเรนซี หรือโทเคนดิจิทัลสำหรับกรณีของบุคคลธรรมดา และเมื่อบุคคลธรรมดาได้ถูกเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในแต่ละครั้งที่ได้จากกำไรหรือผลประโยชน์จากการถือครองคริปโตเคอเรนซี หรือโทเคนดิจิทัลแล้ว จะต้องมีการนำรายได้ไปคำนวณการหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในสิ้นปีด้วย
ขณะที่ในกรณีของนิติบุคคล การจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของนิติบุคคล จะต้องจัดทำเป็นกฎกระทรวงอีกฉบับออกมา โดยคาดว่าจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วที่สุด โดยเบื้องต้นอาจจะเป็นอัตราเดียวกับที่เรียกเก็บคือ 15% นอกจากนั้น นิติบุคคลจะต้องมีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) อัตรา 7% ด้วย ซึ่งต่างจากบุคคล ธรรมดาได้รับการยกเว้นภาษีในส่วนนี้.