บีโอไอประเคน “แจ็ค หม่า” ดึงโครงการยักษ์ 1.1 หมื่นล้านบาทลุยอีอีซี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

บีโอไอประเคน “แจ็ค หม่า” ดึงโครงการยักษ์ 1.1 หมื่นล้านบาทลุยอีอีซี

Date Time: 10 พ.ค. 2561 09:20 น.

Summary

  • “บอร์ดบีโอไอ” เคาะส่งเสริมกิจการผลิตสารสกัดจากหญ้าหวานเงินลงทุน 8 พันล้านบาท พร้อมประเคน “อาลีบาบา” รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนในศูนย์กระจายสินค้าระบบอัจฉริยะ 1.1 หมื่นล้านบาท

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

“บอร์ดบีโอไอ” เคาะส่งเสริมกิจการผลิตสารสกัดจากหญ้าหวานเงินลงทุน 8 พันล้านบาท พร้อมประเคน “อาลีบาบา” รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนในศูนย์กระจายสินค้าระบบอัจฉริยะ 1.1 หมื่นล้านบาทหลัง “แจ็ค หม่า” เยือนไทย เลขาธิการบีโอไอเผยไตรมาสแรกคำขอส่งเสริมการลงทุนพุ่ง 200% แตะ 2 แสนล้านบาท

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบให้การส่งเสริมโครงการลงทุน 6 โครงการใหญ่ มูลค่าเงินลงทุนรวม 37,726 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการแรกเป็นโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยาแผนปัจจุบัน เงินลงทุน 4,500 ล้านบาท ตั้งโครงการที่ จ.ระยอง ส่วนโครงการที่ 2 และโครงการที่ 3 เป็นโครงการต่อเนื่องโดยเริ่มจากกิจการผลิตสารสกัดจากหญ้าหวานที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ เงินลงทุน 4,097 ล้านบาท และโครงการที่ 3 กิจการผลิตสารให้ความหวานจากหญ้าหวานที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพจากการนำสารสกัดจากหญ้าหวานมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เงินลงทุน 4,589 ล้านบาท รวม 2 โครงการวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 8,686 ล้านบาท

สำหรับโครงการที่ 4 เป็นกิจการผลิตเม็ดพลาสติกเงินลงทุน 12,200 ล้านบาท ขณะที่โครงการที่ 5 เป็นกิจการขนส่งทางท่อ เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,500 ล้านบาท โดยจะวางท่อสำหรับขนส่งน้ำมันทางใต้ดินจาก จ.สระบุรีถึง จ.ขอนแก่น และโครงการที่ 6 เป็นกิจการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย เงินลงทุน 2,840 ล้านบาท

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอยังเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.กิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะส่งเสริมผู้ที่จะเข้ามาพัฒนา และบริหารจัดการพื้นที่เมืองอัจฉริยะ โดยจะต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่รองรับระบบอัจฉริยะ 6 ด้านคือ ด้านยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านคมนาคมขนส่ง ด้านการศึกษาและความเท่าเทียมกันในสังคม ด้านความปลอดภัย ด้านความสะดวกในการทำธุรกิจ ด้านบริการจากภาครัฐ และด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และส่วนที่ 2 คือ การส่งเสริมแก่ผู้ที่จะมาพัฒนาระบบอัจฉริยะในด้านต่างๆ ซึ่งต้องพัฒนา ติดตั้ง และให้บริการ ระบบเมืองอัจฉริยะที่เหมาะสมอย่างน้อย 1 ด้าน จาก 6 ด้านดังกล่าว โดยทั้ง 2 กิจการนี้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 100% ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนเป็นเวลา 8 ปี

ขณะเดียวกันที่ประชุมฯยังเห็นชอบให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกิจการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น แบ่งเป็นการลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) หรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 13 ปี และการลงทุนในพื้นที่นิคมหรือเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนอกพื้นที่อีอีซี จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 12 ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯยังเห็นชอบเปิดส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการพัฒนาที่พักอาศัยสำหรับแรงงานมาตรฐานสากล ทั้งสำหรับแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว โดยต้องเป็นที่พักที่ได้มาตรฐานตามแนวทางขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ หากตั้งกิจการในพื้นที่ทั่วไปจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เฉพาะรายได้จากค่าเช่าที่พักอาศัย และกำหนดวงเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลได้รับยกเว้นไม่เกิน 100% ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนตามหลักเกณฑ์ และหากตั้งใน 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัดจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 6 ปี โดยผู้ขอส่งเสริมจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันที่ 30 ธ.ค.2562

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯยังได้อนุมัติให้เปิดส่งเสริมกิจการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบอัจฉริยะ และกำหนดให้เป็นหนึ่งในกิจการเป้าหมายที่จะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี กำหนดวงเงินสูงสุดที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่ากับ 100% ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน สำหรับรายได้จากการให้บริการกระจายสินค้าระหว่างประเทศ หลังจากนายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทอาลีบาบา เดินทางมาไทยเมื่อเดือน เม.ย. และร่วมในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างบริษัทอาลีบาบากับหน่วยงานของไทยใน 8 ด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีโครงการลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าระบบอัจฉริยะมูลค่า 11,000 ล้านบาท

ส่วนยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสแรกปีนี้มีจำนวน 366 โครงการ วงเงินรวม 205,140 ล้านบาท ยอดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 200% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งในไตรมาส 1 ปี 2560 มีจำนวน 288 โครงการ วงเงินรวม 59,110 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ