ปล่อยเกษียณไม่รับคนใหม่เพิ่ม เป้าเหลือ1.5หมื่นใน4ปี
นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) เปิดเผยว่า สร.กฟผ.ได้หารือกับผู้บริหาร กฟผ.ที่จะดำเนินการปรับโครงสร้าง กฟผ.ครั้งใหญ่รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคตที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว (Disruptive Technology) ด้วยการลดขนาดองค์กรลง โดยมีเป้าหมายที่จะลดพนักงานเหลือ 15,000 คน จากปัจจุบันที่ 21,800 คน ภายใน 4 ปี หรือภายในปี 2564-2565 และจะไม่รับพนักงานเพิ่ม แม้ว่าเป็นโควตาเกษียณที่เกิดจากการเกษียณอายุของพนักงานในทุกๆปี นับจากนี้ไป
“การปรับโครงสร้าง กฟผ.ได้ว่าจ้างบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส จำกัด มาทำการศึกษา และ สร.กฟผ.ในฐานะกรรมการคณะทำงานปรับโครงสร้าง ก็ต้องทำความเข้าใจกับพนักงานที่จะเปลี่ยนผ่านองค์กรวันนี้ เพื่อให้ดีขึ้นในวันข้างหน้า เพื่อที่ กฟผ.จะยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงและค่าไฟที่เป็นธรรมให้กับประชาชนต่อไป ซึ่งรายละเอียดยังต้องหารือกับฝ่ายบริหารอีกครั้งวันที่ 10 พ.ค.นี้ และต้องรอนโยบายจากนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่อีกด้วย ว่าจะเริ่ม 1 ต.ค.นี้ทันทีหรือไม่อย่างไร”
ทั้งนี้ คาดว่าผู้ที่จะเกษียณอายุในปีนี้ จะมีประมาณ 1,300 คน และในปี 2562-2563 จะมีประมาณปีละ 1,700 คน และปี 2564 อีก 1,400 คน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะลดคนไปได้ประมาณ 7,000 คน ทำให้องค์กรมีขนาด 15,000 คนได้ทันที ซึ่งก่อนหน้านี้ สร.กฟผ.ได้หารือกับผู้บริหาร กฟผ. วิธีที่จะลดพนักงานได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้วิธีเปิดรับสมัครใจการลาออก (เออร์ลี่รีไทร์) ซึ่งจะทำให้การลดขนาดองค์กรเร็วกว่าเป้าหมาย 4 ปี แต่จาก การศึกษาอย่างละเอียดแล้วเห็นว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดสมองไหลได้ เนื่องจากโครงการที่เคยดำเนินการมา พบว่าบุคคลที่เป็นแรงขับเคลื่อนองค์กร หรือระดับมันสมองกลับยื่นเข้าโครงการ มากกว่าบุคคลที่ควรจะเข้าโครงการ
นอกจากนี้ กฟผ.ก็จะมีการปรับโครงสร้างการบริหารองค์กรเช่นกัน เพื่อความคล่องตัวและลดความซ้ำซ้อน เช่น จากปัจจุบันที่มีจำนวนรองผู้ว่าการ 12 คน ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาเสนอให้ลดเหลือ 7 คน เนื่องจากมีความ ซ้ำซ้อนในบางภารกิจ และบางภารกิจก็ไม่มีความจำเป็นในปัจจุบันแล้ว เช่น รองผู้ว่าการวิศวกรรมพลังน้ำ เนื่องจากในอดีต กฟผ.มีภารกิจที่จะต้องสร้างเขื่อน เพื่อการบริหารจัดการน้ำและมีผลพลอยได้เป็นกระแสไฟฟ้า แต่ขณะนี้ การสร้างเขื่อนใหม่ๆ คงจะไม่เกิดขึ้นอีก จึงไม่มีความจำเป็นในส่วนนี้ เป็นต้น.