แม้โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เปิดให้ผู้มีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี เข้ามาลงทะเบียนรับความช่วยเหลือด้านค่าครองชีพจากรัฐบาล จะดำเนินการมากว่า 6 เดือนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังพบปัญหาว่าผู้ถือบัตรคนจนมากกว่า 1.3 ล้านคน ยังไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
เนื่องจากแผนการนำระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ทิกเก็ต) หรือบัตรแมงมุม จากกระทรวงคมนาคม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสวัสดิการช่วยเหลือ เพื่อใช้ขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า กลับยังทำเชื่อมต่อระบบไม่สำเร็จ จนทำให้ผู้มีรายได้น้อยสูญเสียโอกาสการใช้งานไปอย่างน่าเสียดาย
เดิมทีรัฐบาลตั้งเป้าหมายจะนำระบบของ 2 โครงการนี้เข้ามาเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน โดยบัตรแมงมุม หรือบัตรรถโดยสารร่วม ซึ่งจะมีข้อดีคือช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวก ไปไหนมาไหนก็พกบัตรเดียวขึ้นได้ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า แถมยังประหยัดค่าใช้จ่าย โดยมองว่าหากนำระบบนี้มาเชื่อมต่อกับบัตรคนจน จะทำให้ผู้มีรายได้น้อยได้รับประโยชน์ไปด้วย และยังเป็นการช่วยโปรโมตให้บัตรแมงมุมใช้ได้แพร่หลาย ดังนั้นจึงเห็นด้วยช่วยกันให้นำระบบบัตรแมงมุม หรือระบบอี-ทิกเก็ต เข้าร่วมมาเป็นส่วนหนึ่งของบัตรคนจน
ส่งผลให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ต้องปรับระบบเพื่อผลิตบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 2 รูปแบบ คือ บัตรสวัสดิการแห่ง รัฐธรรมดา สำหรับมอบให้ผู้มีรายได้น้อย 10.1 ล้านคน ที่ลงทะเบียนในทุกจังหวัดทั่วประเทศ นอกเหนือจากที่อาศัยอยู่ในเขต กทม. นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร โดยบัตรนี้ จะมีวงเงินสวัสดิการสำหรับใช้ซื้อสินค้าที่จำเป็นในร้านธงฟ้าได้เดือนละ 200-300 บาท ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อคน ต่อ 3 เดือน ค่าโดยสารรถไฟเดือนละ 500 บาท และค่าโดยสารรถทัวร์ บขส.เดือนละ 500 บาท
ส่วนบัตรอีกชนิดเป็นบัตรคนจนที่เพิ่มระบบชิปการ์ดของบัตรแมงมุมเข้าไปด้วย ไว้สำหรับแจกให้ผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนใน 7 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร จำนวน 1.3 ล้านคน ซึ่งบัตรนี้จะได้รับสวัสดิการความช่วยเหลือเหมือนบัตรชนิดแรกทุกอย่าง แต่ที่เพิ่มเข้ามาคือจะได้รับวงเงินพิเศษในส่วนของระบบแมงมุมเพิ่มอีกเดือนละ 500 บาท เพื่อใช้ขึ้นรถเมล์ ขสมก. และรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง
อย่างไรก็ตาม ในความจริงปัจจุบันนี้ แม้จะผ่านไป 6 เดือนแล้ว แต่ระบบแมงมุมยังไม่สามารถชักใยเชื่อมระบบเข้ากับบัตรคนจนได้สำเร็จ โดย น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เผยว่า “ปัจจุบันภาพรวมของบัตรสวัสดิการยังใช้งานได้ดี ทั้งในส่วนของการซื้อของร้านธงฟ้าที่ได้รับความนิยมมากสุด รองลงมาเป็นการใช้บริการค่าโดยสารรถ บขส. และรถไฟ รวมถึงส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม
แต่ยังยอมรับว่าในส่วนการใช้งานบัตรแมงมุมยังทำไม่ได้ตามแผน เนื่องจากต้องรอสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ทำระบบมาเชื่อมต่อ ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อไรเหมือนกันถึงจะเปิดใช้งานได้ เพราะขณะนี้โครงการก็เลื่อนมาเกินที่กำหนด อีกทั้งกรมบัญชีกลางก็ยังไม่ต้องเบิกจ่ายงบจากบัตรคนจนให้ทั้ง ขสมก. และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยด้วย เพราะทั้ง 2 หน่วยงานไม่สามารถเชื่อมระบบมาได้ตามเงื่อนไข แต่ทราบว่าในส่วนของผู้ใช้บริการรถเมล์ ขสมก.ได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ถ้าใครมีบัตรคนจนก็ใช้รถเมล์ ขสมก.ได้ เพียงโชว์บัตรให้กระเป๋ารถเมล์เห็นเท่านั้น”
เห็นได้ว่ากรมบัญชีกลางออกอาการเอือมระอาไม่น้อย ขณะที่ชาวบ้านผู้ถือบัตรคนจนก็คงเซ็งไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะเดิมที สนข.แจ้งว่าจะใช้เวลา 6 เดือน หรือภายในเดือน มี.ค.61 นับจากเดือน ต.ค.60 จะทำเสร็จ และเชื่อมระบบได้ แต่ขณะนี้ผ่านมาเกินกำหนดก็ยังใช้งานไม่ได้ ทำได้แค่ร้องเพลงรอต่อไป...
อย่างไรก็ดี ล่าสุดทาง สนข. โดย “นายเผด็จ ประดิษฐเพชร” ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมได้ออกมาชี้แจงว่า ที่จริงตั๋วร่วมบัตรแมงมุม หรือระบบอี-ทิกเก็ต สนข.ได้จัดทำระบบการบริหารจัดการรายได้กลางเสร็จไปแล้ว และ ได้ส่งมอบให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.ปีที่แล้ว
แต่สาเหตุที่ทำให้บัตรคนจนไม่สามารถนำไปใช้งานขึ้นรถไฟฟ้า 4 สาย ทั้งรถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ และรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีได้ เนื่องจากตัวผู้ให้บริการรถไฟฟ้ายังไม่สามารถทำระบบมาเชื่อมต่อกับบัตรแมงมุมได้นั่นเอง เพราะตัวรถไฟฟ้า ทุกสายจะมีระบบการรับชำระเงินเป็นของตัวเอง คือ อย่างรถไฟฟ้าบีทีเอส ก็มีบัตรแรบบิท รถไฟฟ้าใต้ดิน และ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ก็ใช้บัตรเอ็มอาร์ทีพลัส หรือรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ก็มีระบบบัตรภายในของตัวเอง และทั้ง 4 ระบบนี้ก็ได้ ติดตั้งระบบมากันก่อนบัตรแมงมุมจะเกิดขึ้นอีก ทำให้ที่ผ่านมาต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับจูนระบบหลังบ้านของทั้ง 4 สายให้เข้ามาใช้กับระบบแมงมุมได้ จึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมบัตรคนจนถึงใช้เชื่อมบัตรแมงมุมไม่ได้สักที
อย่างไรก็ตาม ทาง สนข.ก็ยอมรับว่า การพัฒนาระบบบัตรแมงมุมที่ผ่านมา เหมือนทำงานแบบหลงทาง ใช้เทคโนโลยีตกยุคเข้ามาวางระบบทำให้การพัฒนาล่าช้าและไม่ตอบโจทย์ยุคสมัย โดยปัจจุบันระบบบัตรแมงมุมถูกพัฒนาเป็นแบบระบบปิด โดยใช้เทคโนโลยี 2.0 หากใครต้องการเข้ามาเชื่อมกับระบบแมงมุมจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของตั๋วร่วมแมงมุมทั้งหมดถึงจะใช้งานได้
ซึ่งสวนทางกับระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ขณะนี้กว่า 50 ประเทศทั่วโลกหันมาใช้ระบบเปิดกันหมดแล้ว และอนาคตต่อให้ใครมีบัตรอะไร ก็สามารถไปใช้งานจ่ายค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะได้ทั้งหมด สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของภาครัฐ ที่ต้องการเปิดกว้างให้นำบริการขนส่งสาธารณะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าทุกสาย รถเมล์ ทางด่วน เรือโดยสาร รถไฟ รถทัวร์ เข้ามาใช้ร่วมกันได้ทั้งหมดภายใต้ระบบเดียวกัน
ดังนั้น สนข.จึงต้องมีการทบทวนแผนการพัฒนาใหม่ เพื่อปรับระบบแมงมุมใหม่ให้เป็น ระบบเปิด หรือบัตรแมงมุมยุค 4.0 แทน โดยต้องปรับระบบหลังบ้านเพื่อให้เข้าทันกับยุคสมัย ใหม่และสร้างความสะดวกให้ได้สูงสุด ทำให้คาดว่าอาจต้องขยายเวลาการพัฒนาออกไปอีก 18 เดือน หรือเปิดใช้ได้จริงได้เต็มรูปแบบในเดือน ธ.ค.62
ซึ่งในบัตรแมงมุมเวอร์ชั่นใหม่นี้ จะรองรับระบบการจ่ายเงินได้ทุกบัตรไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรพรีเพดทุกรูปแบบ รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆทั่วโลก เช่น มาสเตอร์การ์ด หรือวีซ่า ที่พร้อมพัฒนานำระบบบัตรเครดิต และบัตรเดบิตของตัวเอง ไปเปิดใช้งานแบบระบบเปิดชำระสินค้า บริการต่างๆได้ตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ถือบัตรคนจนไม่ต้องตกใจไปว่าจะต้องรอไปอีกถึงปีครึ่ง ถึงจะใช้บัตรคนจนขึ้นรถไฟฟ้าได้ เพราะทาง สนข.ยืนยันแล้วว่า ได้เตรียมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไว้แล้ว โดยใน 3-6 เดือนข้างหน้าจะนำระบบแมงมุมไปเชื่อมบริการกับรถไฟฟ้าและรถเมล์เพื่อเปิดใช้ได้แบบชั่วคราว โดยกำหนดเป้าหมายว่า รถไฟฟ้าของ รฟม.คือรถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีน้ำเงิน จะเริ่มเปิดใช้บริการได้ภายใน 1 ก.ค.61 และหลังจากนั้นใน 1 ต.ค.61 ก็จะเพิ่มขึ้นรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ รวมถึงรถเมล์ได้ด้วย
ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส ยังไม่แน่ใจว่าจะเปิดให้บริการได้เมื่อไร เพราะอยู่ระหว่างเจรจากับผู้บริหารโครงการ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนไม่ใช่รัฐบาล ดังนั้นจึงไปบังคับกันไม่ได้ว่าจะพร้อมเข้าร่วมเชื่อมระบบกับบัตรแมงมุมเมื่อไร หรือจะรอไปเชื่อมระบบทีเดียวตอนบัตรแมงมุมเปิดให้บริการแบบสมบูรณ์เต็มรูปแบบในปลายปี 62 เลย เพราะทางเอกชนมองว่า หากระบบเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ก็คงไม่คุ้ม เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเยอะ
นอกจากนี้ ในส่วนของการใช้บริการ นอกจากจะต้องรอปรับระบบแล้ว ในส่วนของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ติดชิปบัตรแมงมุมก็ต้องนำบัตรไปเชื่อมระบบก่อนใช้บริการ เช่น ต่อไปหากรถไฟฟ้าพร้อมใช้แล้ว ผู้ถือบัตรต้องนำบัตรคนจนที่มีอยู่ไปแจ้งเคาน์เตอร์ตามสถานีให้เชื่อมระบบใหม่ เป็นบัตรแมงมุมยุคใหม่เสียก่อน ซึ่งเสียเวลาไม่ถึง 1 นาที จึงจะขึ้นได้
ดังนั้น ชาวบ้าน 7 จังหวัด 1.3 ล้านคน ที่ถือบัตรคนจนแบบติดชิปบัตรแมงมุมคงต้องร้องเพลงรอต่อไปอย่างน้อย 3–6 เดือน เพื่อรอดูว่าทาง สนข.จะจัดการเชื่อมระบบบัตรแมงมุม เข้ากับผู้ให้บริการรถไฟฟ้าได้จริงตามแผนหรือไม่.