ขสมก.จ่อยื่นอุทธรณ์ทุกข้อหา ศาลปกครองสั่งจ่ายค่าเลิกสัญญารถเมล์ “เบสท์ริน”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขสมก.จ่อยื่นอุทธรณ์ทุกข้อหา ศาลปกครองสั่งจ่ายค่าเลิกสัญญารถเมล์ “เบสท์ริน”

Date Time: 11 เม.ย. 2561 07:25 น.

Summary

  • ศาลปกครองสั่ง ขสมก.จ่ายค่าเลิกสัญญาซื้อรถเมล์เอ็นจีวีให้เบสท์ริน 1,159 ล้านบาท พร้อมสั่งระงับการทำสัญญาซื้อรถเมล์เอ็นจีวีกับ ช.ทวี ชั่วคราว เหตุมติบอร์ดน่าจะไม่ชอบด้วย ก.ม.

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ศาลปกครองสั่ง ขสมก.จ่ายค่าเลิกสัญญาซื้อรถเมล์เอ็นจีวีให้เบสท์ริน 1,159 ล้านบาท พร้อมสั่งระงับการทำสัญญาซื้อรถเมล์เอ็นจีวีกับ ช.ทวี ชั่วคราว เหตุมติบอร์ดน่าจะไม่ชอบด้วย ก.ม. ด้านผู้บริหารเบสท์รินเตรียมเสนอนายกฯหาทางออกเสนอเช่า-ซื้อ เพื่อประชาชนมีรถใช้ ขณะที่ ขสมก.ยันอุทธรณ์ทุกกรณี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด บริษัทอาร์ แอนด์ เอ คอมเมอร์เชียล วิฮีเคิลส์ เอสดีเอ็น. บีเอชดี. บริษัท รถยนต์เซินหลง (เซี่ยงไฮ้) จำกัด และบริษัทเทคโนโลยีพลังงานใหม่เป่ยฟังกวางโจว จำกัด จากการบอกเลิกสัญญาจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์โดยสารปรับอากาศเอ็นจีวี และบำรุงรักษาจำนวน 489 คันโดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย เป็นเงิน 1,159,969,552.50 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ของเงินต้น 1,147,831,350.06 บาท นับถัดจากวันที่ 7 มิ.ย. 60 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดี เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ ขสมก.ส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 30 ก.ย. 59 จำนวน 547,427.71 บาท คืนแก่บริษัทเบสท์รินฯกับพวก ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้เป็นเงินตามจำนวนหนังสือค้ำประกันดังกล่าว

ระบุ ขสมก.ยกเลิกสัญญาไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ศาลให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่าบริษัทเบสท์รินฯกับพวกทำสัญญาซื้อขายรถเมล์เอ็นจีวีให้ ขสมก.จำนวน 489 คันเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 59 และมีกำหนดส่งมอบรถทั้งหมดภายใน 90 วันนับถัดจากวันลงนามสัญญา ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีทั้ง 489 คัน ณ วันที่ 24 ม.ค. 60 และได้นำรถ 390 คัน ไปติดตั้งระบบจีพีเอส ในจำนวนนี้ได้นำไปจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบกเป็นชื่อของ ขสมก.แล้ว 292 คัน แม้จะมีรถยนต์บางส่วนยังอยู่ที่กรมศุลกากร ซึ่งการที่ ขสมก.ไม่ตรวจรับมอบรถโดยอ้างว่าได้รับหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งว่า ให้รอกรมศุลกากรพิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้าก่อน รวมทั้งอ้างว่าส่งมอบรถไม่เป็นไปตามาระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาเป็นการขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการตรวจ สอบรับและทดสอบรถเมล์เอ็นจีวีมีมติให้ส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีเป็นงวดๆได้ ดังนั้น การที่ ขสมก.อ้าง สิทธิตามข้อ 21 ของสัญญาที่ว่า ขสมก.มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีหากบริษัทเบสท์รินฯ ส่งมอบรถไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดในสัญญา และมีสิทธิริบหลักประกัน รวมทั้งสิทธิเรียกค่าเสียหายจากบริษัทได้นั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้ การบอกเลิก สัญญาจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 387 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ประกาศไม่ได้ระบุแหล่งผลิตชัดเจน

ส่วนที่ ขสมก.อ้างว่ารถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าวไม่ได้เป็นรถนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันจากประเทศจีน หรือเป็นรถที่ประกอบในประเทศไทย แต่เป็นรถที่ประกอบขึ้นที่ประเทศมาเลเซียนั้น ศาลเห็นว่าจากประกาศของ ขสมก.เรื่องการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษา ลงวันที่ 23 พ.ค.59 มีเจตนารมณ์ในการจัดซื้อที่มิได้ถือแหล่งผลิตหรือแหล่งประกอบรถเมล์เอ็นจีวีเป็นสาระสำคัญ แม้ตามข้อตกลงในสัญญาตกลงที่จะซื้อขายรถที่ผลิตในประเทศจีนทั้งคัน แต่ข้อเท็จจริงเป็นการนำรถมาประกอบที่ประเทศมาเลเซีย ก็ไม่ใช่ข้อแตกต่างที่จะทำให้การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีของ ขสมก.ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการบริการสาธารณะ ดังนั้น การที่ ขสมก.อ้างว่าบริษัทเบสท์รินฯกับพวกเป็นฝ่ายผิดสัญญา และสามารถบอกเลิกสัญญาตามกฎหมายได้ จึงไม่อาจรับฟังได้ จึงพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหาย ดังกล่าว

นอกจากนี้ ศาลปกครองกลางยังได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก่อนมีคำพิพากษาในคดีที่บริษัทสยาม สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด ได้ยื่นฟ้อง ขสมก. และคณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. (บอร์ด ขสมก.) กรณีบอร์ด ขสมก.มีมติในการประชุมครั้งที่ 16/2560 ให้ ขสมก.ทำสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 489 คัน วงเงิน 4,221 ล้านบาทเศษ จาก กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO โดยบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากศาลเห็นว่ามติบอร์ด ขสมก.ในการประชุมครั้งที่ 15/2560 วันที่ 18 ธ.ค. 60 และการประชุมครั้งที่ 16/2560 วันที่ 20 ธ.ค. 60 น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะปรากฏข้อเท็จจริงจากพยานว่าไม่มีการลงมติอนุมัติให้ ขสมก.เข้าทำสัญญา และไม่มีการรับรองรายงานการประชุมดังกล่าว จึงสั่งมิให้ ขสมก.และบอร์ด ขสมก.นำมติดังกล่าวไปดำเนินการใดที่มีผลผูกพันกับ ขสมก.และบอร์ด ขสมก.เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ด้านนายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานกรรมการบริหารบริษัทเบสท์รินฯ กล่าวว่า คำพิพากษาวันนี้ถือว่าเป็นการให้ความเป็นธรรมกับบริษัทอย่างมาก เพราะกว่า 1 ปีที่ผ่านมา บริษัทตกเป็นจำเลยสังคมของประเทศ เราไม่ได้อยากจะได้ค่า เสียหาย แต่ต้องการที่จะส่งมอบรถที่สั่งมาให้กับทาง ขสมก.เพื่อที่ประชาชนจะได้ใช้ โดยทางบริษัทก็จะ ไม่อุทธรณ์เรื่องค่าเสียหายเพิ่ม แต่พยายามเจรจากับรัฐบาล และ ขสมก.เพื่อหาทาง โดยอาจจะมีการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ ขสมก.มีการเช่า หรือซื้อ ของบริษัทไป

ขสมก.จ่ออุทธรณ์เชื่อมีข้อมูลแจงได้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า ขสมก.จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครอง และจะเดินหน้ารับรถเมล์เอ็นจีวีที่เหลืออีก 389 คัน จากกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ต่อไป ส่วนกรณีที่ศาลปกครองกลางยังได้มีคำพิพากษาให้ ขสมก. ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,159,969,552.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5% ต่อปี แก่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด นั้น ขสมก.ก็จะยื่นอุทธรณ์ตามขั้นตอนเช่นกัน เนื่องจาก ขสมก.มีข้อมูลที่นำไปโต้แย้งในชั้นศาลปกครองสูงสุดได้ เช่น ศาลปกครองกลางเห็นว่า ขสมก. ไม่ได้กำหนดเรื่องแหล่งกำเนิดรถไว้ในเงื่อนไขการประมูล (TOR) แต่ในข้อเสนอของเบสท์รินระบุว่าจะผลิตรถในประเทศจีนและจะประกอบตัวรถในประเทศมาเลเซีย โดยมองว่าไม่ใช่ประเด็นน่าหนักใจ เพราะที่ผ่านมา ขสมก. ก็ต่อสู้ตามขั้นตอน เช่น กรณีศาลมีคำสั่งคุ้มครองให้ ขสมก.รับมอบรถเมล์จากเบสท์ริน แต่ ขสมก. ก็ยื่นอุทธรณ์และศาลปกครองสูงสุดก็รับพิจารณา รวมถึงกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ยึดเงินค้ำประกันจากเบสท์ริน ซึ่ง ขสมก.ก็ยื่นอุทธรณ์และศาลก็กลับคำพิพากษาให้ยึดเงินค้ำประกันได้

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ขสมก.ว่า หลังจากนายณัฐชาติ จารุจินดา อดีตประธานบอร์ด ขสมก. ชุดที่อนุมัติสัญญาการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีจากกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ได้ลาออกไปและมีผลเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา ขณะนี้ก็มีบอร์ดทยอยลาออก ตามไปแล้ว 4 คน ได้แก่ พลเอกวราห์ บุญญะสิทธิ์, นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม, รองศาสตราจารย์ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ และนายชัยชนะ มิตรพันธ์ นอกจากนี้มีกระแสข่าวว่า น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ กำลังจะยื่นหนังสือลาออกจากบอร์ดในเร็วๆนี้ โดยถ้าเป็นจริง สุดท้ายแล้วจะเหลือบอร์ด จำนวน 3 คน ได้แก่ รองศาสตราจารย์คณิต วัฒนวิเชียร, พลตำรวจตรีประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ และ นายสมศักดิ์ ประถมศรีเมฆ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ