ม.44 เจ้าปัญหาเคลียร์ไม่จบ หลังพ่วง ช่วยเหลือช่องดิจิทัล-ค่ายมือถือ-กรมประชาสัมพันธ์เข้าไว้ด้วยกัน รักษาการอธิบดี กรมประชาฯตัดพ้อ หารายได้ไม่ได้แต่ช่อง 5 ทำได้ ด้าน กสทช.โดดชิ่ง สั่งเอไอเอส-ทรู ออกหน้าเอง สาธยายเหตุและผลที่ขอร่วมด้วยช่วยกัน
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงการเสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตาม ม.44 เปิดทางให้กรมประชาสัมพันธ์หารายได้จากโฆษณาได้ว่า ได้รายงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. รับทราบถึงปัญหาของกรมประชาสัมพันธ์ ที่แต่ละปีได้รับงบประมาณจำนวน 200 กว่าล้านบาท จึงประสบปัญหาในการผลิตรายการ ไม่สามารถที่จะจ้างผู้ผลิตรายการที่มีคุณภาพได้ ดังนั้นจึงเสนอให้ผู้ผลิตรายการในช่องสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ของกรมประชาสัมพันธ์สามารถหารายได้จากโฆษณาได้ โดยไม่ได้ต้องการมีรายได้เพิ่ม เพียงต้องการให้ผู้ประกอบการมีงบประมาณที่จะผลิตงานที่มีคุณภาพออกมาได้ ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์อาจให้งบประมาณไปส่วนหนึ่งและผู้ผลิตรายการหาโฆษณาเองอีกส่วนหนึ่ง แต่ต้องอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ให้มากเหมือนสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีทั่วไป และการหาโฆษณานี้ต้องได้น้อยกว่าสถานีโทรทัศน์ช่อง 5
“ที่เล่าให้สื่อมวลชนฟัง เพราะต้องการแสดง ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้จะหมกเม็ดอะไร เราบริสุทธิ์ใจที่จะแก้ปัญหาของหน่วยงาน ซึ่งตามข้อกฎหมาย ยังหารายได้จากโฆษณาไม่ได้ โดยต้องหารือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อีกครั้ง อยากให้ไปดูช่องอื่นๆเช่น เวิร์คพอยท์ รายการหนึ่ง เขาใช้งบประมาณเท่าไร ซึ่งพบว่าหลักสิบล้านบาท แต่ของเอ็นบีทีใช้ทั้งปี 200 กว่าล้านบาท”
พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า เชื่อว่าถ้าอนุญาตให้ผู้ผลิตรายการสามารถมีโฆษณาได้ ก็จะทำให้รายการต่างๆในช่องเอ็นบีทีมีคุณภาพมากขึ้น โดยยังยึดหลัก การเดิมคือการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาล โดยสถานีโทรทัศน์เพื่อความมั่นคง อย่างช่อง 5 มีโฆษณาได้ แต่ช่องที่สร้างความรับรู้ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนอย่างช่องเอ็นบีทีกลับมีโฆษณาไม่ได้สุดท้ายก็แล้วแต่ว่าจะช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นการใช้ ม.44 แต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันเดียวกัน (5 เม.ย.) สำนักงาน กสทช. ได้ขอให้ 2 ค่ายมือถือ ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่น 4 จี ความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ และเสนอขอใช้ ม.44 ผ่อนผันการชำระค่าประมูล เช่นเดียวกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุและผลของการขอยืดเวลาการชำระออกไปให้สาธารณชนเข้าใจ
โดยนายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ของทรู กล่าวว่า การยื่นขอผ่อนผันการชำระค่าคลื่น 900 ไปยัง คสช. ไม่ได้เป็นการขอลดจำนวนเงินค่าประมูลคลื่น แต่เป็นการขอความช่วยเหลือในการขยายจำนวนงวดชำระ สำหรับงวดสุดท้ายที่เป็นเงินก้อนใหญ่ พร้อมจ่ายดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยกลางที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ประมาณ 1.5%) “การขอแบ่งชำระ ไม่ได้เป็นการผิดนัดการชำระ จนต้องคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยค่าปรับที่ 15% และทำให้รัฐเสียประโยชน์ขนาดนั้น อีกทั้งยังทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีกระแสเงินสดที่ดีขึ้น มีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่จะมีความจำเป็นในอนาคต อาทิ เทคโนโลยี 5G และ IoT ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศต่อไป”
นายสฤษดิ์กล่าวว่า ทีวีดิจิทัลได้รับการพิจารณาผ่อนผันการชำระเงินครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2559 ขณะที่ค่ายมือถือเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.เช่นกัน จึงควรได้รับการพิจารณาในหลักการเดียวกัน
นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส กล่าวว่า เอกชนขอผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่น 900 งวดที่ 4 ในปี 2563 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายออกไปเป็น 7 งวด แต่ กสทช.พิจารณาให้ขยายออกไปเพียง 5 งวด พร้อมให้ชำระดอกเบี้ย 1.5% นั้น เป็นมาตรการผ่อนผันที่เพียงพอที่จะช่วยเหลือค่ายมือถือเช่นเดียวกับทีวีดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม หาก คสช.ไม่ให้ขยายระยะเวลาการชำระเงิน บริษัทก็เคารพในการตัดสินใจของ คสช. แต่หาก คสช.มีข้อสรุปให้ผ่อนผันการชำระหนี้พร้อมเงื่อนไขจ่ายดอกเบี้ยให้กับรัฐด้วยนั้น จะส่งผลให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีเงินที่สามารถ นำไปขยายโครงข่าย และเพิ่มความถี่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ.