นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์โดยได้ทดลองใช้บริการจากสถานีมักกะสันไปยังสถานีลาดกระบัง จากนั้นได้ทดลองใช้บริการรถไฟดีเซลรางขบวนเสริมพิเศษรอบปฐมฤกษ์ เส้นทาง ลาดกระบัง-กรุงเทพฯ-ลาดกระบัง เพื่อบรรเทาปัญหาความแออัดรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ โดยนั่งจากสถานีลาดกระบังไปยังสถานีหัวลำโพง โดยยอมรับว่า แอร์พอร์ตลิงค์มีปัญหาซ่อมบำรุงทำให้นำรถมาวิ่งให้บริการได้เพียง 4 ขบวน ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น จึงได้สั่งการให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดขบวนรถพิเศษดีเซลรางโดยสาร ในชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้าจากลาดกระบัง-กรุงเทพฯ และช่วงเย็นจากกรุงเทพฯ-ลาดกระบัง นั่งปรับอากาศ จำนวน 2 ตู้ และรถพัดลมอีก 4 ตู้ มาให้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ วันละ 2 ขบวน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน และแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในเขตพื้นที่ชั้นใน ซึ่งขบวนรถสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 600 คน ต่อเที่ยว เริ่มให้บริการเที่ยวแรกเมื่อ 30 มีนาคม 61 ที่ผ่านมา
สำหรับเที่ยวเช้า จะมีขบวนรถพิเศษที่ 994 ลาดกระบัง- กรุงเทพฯ ออกจากสถานีลาดกระบัง เวลา 07.45 น. ถึงหัวลำโพง 08.40 น. ส่วนเที่ยวเย็น จะวิ่งขบวนรถพิเศษที่ 995 กรุงเทพฯ-ลาดกระบัง ออกจากสถานีหัวลำโพงเวลา 18.30 น. ถึงลาดกระบัง 19.25 น. อัตราค่าโดยสารรถนั่งปรับอากาศ คนละ 20 บาท รถนั่งพัดลม คนละ 10 บาท สามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซื้อตั๋วโดยสารได้ ทั้งนี้ จะจอดเฉพาะสถานีที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์เท่านั้น ประกอบด้วย 8 สถานีคือ ลาดกระบัง, บ้านทับช้าง, หัวหมาก, ป้ายหยุดรถสุขุมวิท 71 หรือแอร์พอร์ตลิงค์รามคำแหง, ป้ายหยุดรถอโศก หรือแอร์พอร์ตลิงค์มักกะสัน, มักกะสัน, ป้ายหยุดรถพญาไท หรือ แอร์พอร์ตลิงค์พญาไท และหัวลำโพง
นายไพรินทร์ กล่าวต่อถึงปัญหารถไม่พอว่า หากแอร์พอร์ตลิงค์ไม่มีปัญหาซ่อมบำรุงรถที่มีอยู่ 9 ขบวนสามารถให้บริการรองรับได้ ขณะที่แผนจัดซื้อรถใหม่ 7 ขบวน คาดว่าต้องใช้เวลาหลายปีเพราะเป็นการสั่งผลิต ดังนั้น ระยะสั้นอาจเช่ารถไฟฟ้ามาให้บริการ ส่วนแผนการซ่อมบำรุงนั้นได้ให้นโยบายแอร์พอร์ตลิงค์จัดซื้ออะไหล่ที่สำคัญมาเก็บสต๊อกไว้ คาดว่าปัญหาต่างๆจะคลี่คลายและหมดไปช่วงกลางเดือน เม.ย.นี้แน่นอน.