นบข.ให้ใจเกินร้อยอุ้มเกษตรกร ไฟเขียวมาตรการช่วยทุกรูปแบบ-ราคาข้าว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

นบข.ให้ใจเกินร้อยอุ้มเกษตรกร ไฟเขียวมาตรการช่วยทุกรูปแบบ-ราคาข้าว

Date Time: 30 มี.ค. 2561 09:55 น.

Summary

  • นบข.ไฟเขียวมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร-รักษาเสถียรภาพราคาข้าวปี 61/62 เดินตามรอยปีที่ผ่านมา ทั้งมาตรการจ่ายเงินช่วยค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกร โครงการจำนำยุ้งฉาง...

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นบข.ไฟเขียวมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร-รักษาเสถียรภาพราคาข้าวปี 61/62 เดินตามรอยปีที่ผ่านมา ทั้งมาตรการจ่ายเงินช่วยค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกร โครงการจำนำยุ้งฉาง พร้อมเข็นมาตรการใหม่ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรนำไปสร้างยุ้งฉาง เพิ่มพื้นที่เก็บข้าวไม่ให้ออกสู่ตลาดพร้อมกัน ย้ำเงินช่วยเหลืออาจใช้ใกล้เคียงปีก่อน

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบกรอบแนวทางการกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/2562 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวทางเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยในส่วนของการผลิตนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เช่น การส่งเสริมระบบนาแปลงใหญ่ ซึ่งจะขยายการดำเนินการเพิ่มขึ้น ส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 600,000 ไร่ และส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ รวมถึงข้าวพันธุ์อื่นที่เป็นพันธุ์เฉพาะ เช่น พันธุ์ กข 43 รวมทั้งการปรับเปลี่ยนการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำด้วย

ส่วนด้านการตลาด หลังกระทรวงพาณิชย์จัดประชุมผู้เกี่ยวข้องในวงการข้าว ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร นักวิชาการ ต่างเห็นว่ามาตรการของรัฐในปีที่ผ่านมาได้ผลดี ทำให้ราคาข้าวในปีนี้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่ราคาสูงมาก จึงต้องการให้คงมาตรการ ที่ช่วยดึงข้าวออกจากตลาดไว้เหมือนเดิม ทั้งการช่วยเหลือเกษตรกรในภาพรวม คือ การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว ค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว โครงการชะลอการขายข้าวเปลือก โดยนำข้าวขึ้นยุ้งไว้ก่อน โครงการให้สินเชื่อกับสถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมข้าว และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวหรือโรงสี

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการใหม่ คือ โครงการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อไปสร้างยุ้งฉางเก็บข้าว ไม่ให้ข้าวออกมาสู่ตลาดพร้อมกันในปริมาณมาก พร้อมกำหนดให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องเข้าร่วมโครงการสินเชื่อ เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกต่อไป

“ที่ประชุม นบข.เห็นชอบกรอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาฤดูกาลผลิต 2561/2562 แต่ยังไม่มีรายละเอียด โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำรายละเอียด พร้อมงบประมาณกลับมานำเสนอ นบข.อีกครั้งคาดว่าจะใช้งบประมาณใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา”

ส่วนความคืบหน้าเรื่องการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลจากโครงการรับจำนำนั้น ที่ประชุม นบข.เห็นชอบให้ระบายข้าวกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นข้าวกลุ่มคุณภาพดีสำหรับคนบริโภคที่เหลืออยู่จำนวน 44,000 ตัน กำหนดจะระบายให้หมดภายในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ ส่วนกลุ่มที่ 2 ที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ และกลุ่มที่ 3 ที่ใช้ในอุตสาหกรรม รวมประมาณ 2 ล้านตัน อยู่ระหว่างตรวจสอบ เพื่อความรอบคอบและระบายข้าวออกต่อไป ซึ่งการระบายจะพิจารณาด้วยว่าจะระบายช่วงไหน เพื่อไม่ให้กระทบราคาข้าวในประเทศ

นางนันทวัลย์ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาข้าวในปัจจุบันว่า ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่เกษตรกรขายได้ในขณะนี้อยู่ที่ตันละ 14,500-15,000 บาท ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคาตันละ 7,500-8,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 10,500-11,600 บาท ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 9,000-10,300 บาท ซึ่งราคามีแนวโน้มดีต่อเนื่อง จากความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง นอกจากนี้ การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับจีนจำนวน 100,000 ตัน ครั้งที่ 5 ได้ตกลงราคากันแล้ว และจะส่งมอบเดือน เม.ย.นี้

“ยังมีเอกชนของไทยชนะประมูลข้าวในต่างประเทศหลายโครงการ ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกข้าวปีนี้ดีขึ้น สำหรับการประเมินความต้องการข้าวในปีนี้คาดว่ามีประมาณ 30.525 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 3.45% จากปีที่ผ่านมา โดยเป็นข้าวเพื่อการส่งออก 14.69 ล้านตัน เพื่อการบริโภค 12 ล้านตัน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม 2.4 ล้านตัน และใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ 1.39 ล้านตัน ซึ่งหากแยกชนิดของข้าวตามความต้องการของตลาด แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ 6.419 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวหอมจังหวัด 1.609 ล้านตัน ข้าวขาว 15.232 ล้านตัน โดยในส่วนของข้าวแยกเป็นข้าวพื้นแข็งที่เหมาะกับการนำมารับประทานหรือทำข้าวนึ่งในการส่งออกมีความต้องการ 9.82 ล้านตัน ข้าวพื้นนิ่ม 1.69 ล้านตัน โดยข้าวพื้นนิ่มจะมีตลาดส่งออก คือ จีน ที่มีความต้องการจำนวนมาก ส่วนข้าวนึ่งมีความต้องการ 3.72 ล้านตัน และข้าวเหนียว 7 ล้านตัน ที่เหลือเป็นข้าวเฉพาะ คือ ข้าวอินทรีย์ ข้าวพันธุ์ กข 43 และข้าวสี มีความต้องการ 260,000 ตัน”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ