เผอิญว่ามีนักวิชาการหลายท่านพูดถึงเรื่อง ลัทธิประชาธิปไตยพลังงาน ที่จะทำให้อนาคตพลังงานของประเทศไทยประสบกับความอ่อนแอ โดยอ้างถึงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ที่เรียกกันว่า แผนพีดีพี ที่ยังอยู่ในกรอบความคิดเดิมๆ ที่ใช้เกณฑ์การพิจารณาความมั่นคงด้านพลังงาน ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
แนวคิดทฤษฎีใหม่ ประชาธิปไตยพลังงาน เป็นวิธีการจัดการบริหารพลังงาน ผสมผสานความคิดด้านการเมือง เศรษฐศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้านการสื่อสาร ไปโยงกับหลักคุณค่าของมนุษย์และค่านิยม 12 ประการของ คสช. สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มีการยกตัวอย่างของประเทศที่มีการบริหารจัดการพลังงานอย่าง สมดุลและมีประสิทธิภาพ อย่างประเทศ ญี่ปุ่น ที่ให้น้ำหนักกับ ความมั่นคงทางด้านพลังงาน มากที่สุด โดยยอมที่จะแบกรับภาระต้นทุนพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เพราะมองว่าการมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่องจะเป็นผลดีกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้ญี่ปุ่นรอดพ้นจากวิกฤติพลังงานในปี 2011 หลังจากเกิดเหตุ ระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เรื่องของต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ถูกนำมาเทียบเคียงกับความคุ้มค่าของการลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อสามารถแข่งขันกับการผลิตไฟฟ้าพลังงานหลัก เช่น ก๊าซ ถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ ซึ่งยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน แม้ในต่างประเทศเองจะอ้างว่าสามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่ก็ไม่มีรายละเอียดว่า คิดจากองค์ประกอบอะไรบ้าง รวมต้นทุนการจัดการและการเก็บสำรองไฟด้วยหรือไม่
เพราะฉะนั้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการผลิตไฟฟ้า ก็จะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนถึงเรื่องของ ต้นทุนและประสิทธิภาพ ที่ได้รับเช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวยจนสามารถชดเชยค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ ยังต้องใช้หลักคิดค่าไฟฟ้าตามความเป็นจริง และทำอย่างไรให้ต้นทุนถูกที่สุดเพื่อให้มีผลกระทบกับค่าไฟฟ้าให้น้อยที่สุด
คำว่า ประชาธิปไตยพลังงาน จึงน่าจะหมายถึง การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือกำหนดว่าจะใช้พลังงานไฟฟ้าประเภทใด แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องของสิทธิและการแสดงออกของประชาชน ที่มีการชี้นำและมีกลุ่ม หรือองค์กรเอ็นจีโอ ที่พยายามออกมาต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าทุกชนิดอยู่แล้ว จึงทำให้หลัก ประชาธิปไตยพลังงาน ในบ้านเรา ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างสมเหตุสมผล
แต่ก็ไม่ใช่ข้อ ปิดกั้นที่ประชาชน โดยเฉพาะเจ้าของพื้นที่ จะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆได้ เพียงแต่ว่าการแสดงความคิดเห็นจะต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน
ในท้ายที่สุดแล้ว หลักประชาธิปไตยพลังงานจะต้องทำใจยอมรับความเป็นจริงซึ่งกันและกัน หลังจากนำข้อมูลทั้งหมดมาชั่งน้ำหนักร่วมกันถึงผลได้ผลเสียแล้ว โดยปราศจากอคติ หรือผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง
ไม่ใช่หลับหูหลับตาค้าน โดยไม่ยอมรับความเป็นจริง.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th