ครม.เห็นชอบโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินระยะ 2 ให้แบงก์ออมสินปล่อยสินเชื่อช่วยคนจนวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อดึงให้หลุดจากหนี้นอกระบบให้ได้ ทุ่มงบ 4,000 ล้านบาท ไว้สำรองจ่ายเอ็นพีแอล หลังพบโครงการแรกปล่อยสินเชื่อเกือบเต็ม 100% ช่วยได้จริงและมีหนี้เสียแค่ 0.14%
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 ของธนาคารออมสิน วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน ทั้งค่ารักษาพยาบาล และค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน รวมทั้งสามารถนำไปใช้หนี้นอกระบบได้ โดยธนาคารจะปล่อยกู้ให้คนละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.85% ต่อเดือน คาดว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยให้ดีขึ้นประมาณ 200,000 ราย
สำหรับโครงการดังกล่าว ธนาคารออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้ผู้มีรายได้น้อย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั่วไป ที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน โดยต้องไม่เป็นการรีไฟแนนซ์หนี้ในระบบ มีระยะเวลาโครงการ 3 ปี โดยสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563 ระยะเวลาการให้กู้ยืมไม่เกิน 5 ปี และต้องมีบุคคลค้ำประกันอย่างน้อย 1 คน หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อจะพิจารณาความสามารถในการจ่ายหนี้จากรายได้ และค่าใช้จ่ายรวมของบุคคลในครอบครัวเป็นหลัก โดยสามารถตรวจสอบประวัติการชำระหนี้จากเครดิตบูโรได้
“ที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวในครั้งแรก มียอดการปล่อยสินเชื่อเกือบเต็ม 100% แล้ว สามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการเงินไปใช้จ่ายฉุกเฉินได้จริง และตลอดระยะเวลาของโครงการก็มีสัดส่วนหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เพียง 0.41% เท่านั้น จึงเป็นเหตุผลที่จะต้องทำโครงการในระยะที่ 2 โดยคาดว่าจะเกิดประโยชน์อย่างมาก และที่สำคัญยังช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบกับดอกเบี้ยของสินเชื่อโครงการนี้ มีสัดส่วนที่ต่างกันหลายเท่า”
ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า ในการอนุมัติสินเชื่อให้ผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมโครงการควรทำด้วยความรอบคอบ เพื่อ ป้องกันไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน และป้องกันการเกิดปัญหาเอ็นพีแอลในระบบ โดยเสนอให้ธนาคาร ควรพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการในระยะที่ 1 เป็นลำดับแรก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
นอกจากนี้ ครม. ได้อนุมัติวงเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการเป็นวงเงินสูงสุดไม่เกิน 4,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสินไปตกลงกับสำนักงบประมาณ โดยวงเงินดังกล่าว จะมีไว้เพื่อชดเชยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการไม่เกิน 40% ของสินเชื่อที่อนุมัติ แยกออกเป็น เอ็นพีแอล ไม่เกิน 25% รัฐบาลชดเชยให้ 100% หรือเป็นเงิน 2,500 ล้านบาท เอ็นพีแอลมากกว่า 25% แต่ไม่เกิน 37.5% รัฐบาลชดเชยให้ 70% หรือ 875 ล้านบาท และเอ็นพีแอลมากกว่า 37.5% แต่ไม่เกิน 50% รัฐบาลชดเชยให้ 50% หรือ 625 ล้านบาท
ส่วนการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการสะสมนับตั้งแต่เดือน ต.ค.2559 เป็นต้นมาถึง ณ สิ้นเดือน ก.พ.2561 มีการจับกุมผู้กระทำผิดรวมทั้งสิ้น 2,139 คน.