“ไม่ทำ ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย” เป็นประโยคที่บ่งบอกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ไทยทีวี ที่มีนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ ติ๋ม ทีวีพูล เป็นเจ้าของและเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัทในช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา
จนล่าสุดต้องเพิ่มคำว่า “ไม่แพ้” ให้อีก เพราะศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาวันนี้ (13 มี.ค.61) ที่สรุปได้ว่าที่ไทยทีวีบอกเลิกทำทีวีดิจิตอล 2 ช่อง คือไทยทีวี และโลกานั้นไม่ผิด และไม่ต้องจ่ายเงินค่าใบอนุญาตใช้คลื่นที่เหลืออยู่ประมาณ 1,500 ล้านบาทให้ กสทช.แล้ว
แม้จะยังต้องรอศาลปกครองสูงสุดอีกยก แต่นาทีนี้ก็มีความหวังกว่าเดิม และยังเผื่อแผ่ความหวังไปถึงอีกหลายช่องที่อยากถอยจากธุรกิจทีวีดิจิตอลด้วย
ย้อนไปเมื่อวันที่ 26-27 ธ.ค.2556 ติ๋ม ทีวีพูล คือหน่ึงในผู้ประกอบการกว่า 20 ราย ที่มีความหวังในทางธุรกิจ เพราะชนะประมูลได้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลจาก กสทช. หลายคนยิ้มร่า เพราะเปลี่ยนสถานะจากผู้ไล่ล่า ต่อรองเช่าเวลา กลายเป็นเจ้าของช่องฟรีทีวี ที่มีสถานะเทียบเท่าฟรีทีวีช่องหนึ่งแล้ว
ไทยทีวีประมูลมาได้ 2 ช่อง แบ่งเป็นช่องข่าว 1 ช่อง ด้วยเงินประมูลที่เสนอ 1,328 ล้านบาท และช่องเด็ก 1 ช่อง 648 ล้านบาท รวม 1,976 ล้านบาท หรือเกือบ 2 พันล้านบาท
ในวันที่รู้ว่าชนะประมูล ติ๋ม ทีวีพูล ให้สัมภาษณ์อย่างมั่นใจว่าไทยทีวีจะต้องได้รับความนิยมติดอันดับ 1 ใน 5 สามารถคืนทุนได้ภายในปีแรกที่ออกอากาศ ด้วยเงินรายได้ปีแรกไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ปีที่สองคุ้มทุน และทำกำไรได้ในปีที่ 3 และอีกมากมายความหวังจนถึงขั้นนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมทีวีมีถึง 60,000 ล้านบาท
แต่เพียงแค่ 1 ปีหลังออกอากาศ โลกแห่งความเป็นจริงแสนโหดร้าย เหมือนหนังคนละม้วน เพราะปีแรกตัวเลขขาดทุนวิ่งไปทะลุ 350 ล้านบาท แม้จะดึงพันธมิตรมาช่วยผลิตรายการ พอครบกำหนดต้องจ่ายเงินค่าประมูลงวดที่ 2 วันที่ 25 พ.ค.2558 จึงประกาศไม่จ่าย กสทช. รวมเป็นเงิน 2 ช่อง 288.472 ล้านบาท หลังจากปีแรกจ่ายไปแล้วกว่า 365 ล้านบาท
ติ๋ม ทีวีพูล เลือกถอย เพื่อหยุดเลือดไหล เพราะช่วงเวลาอีกเกือบ 15 ปีข้างหน้า ไม่นับต้นทุนดำเนินการปีหนึ่งหลายร้อยล้านบาท ยังมีค่าใบอนุญาตต้องจ่าย กสทช.อีกประมาณ 1,500 ล้านบาท เท่ากับเงินที่เคยเปิดเผยว่ามีอยู่หลายพันล้านบาทนั้นอาจหายวับภายในไม่กี่ปี เพราะไทยทีวี มีแต่ขาดทุน และหนี้สินพอกพูน
เมื่อดูข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า บริษัทไทยทีวี จดทะเบียนเมื่อปี 2552 ทุนจดทะเบียน 800 ล้านบาท ในปี 2557 และ 2558 มีรายได้ 43 และ 89 ล้านบาท ขาดทุน 350 และ 495 ล้านบาท ส่วนปี 2559 ไม่มีรายได้ แต่บันทึกขาดทุน 287 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์รวมลดลงเรื่อยๆ จนปี 2559 อยู่ที่ 1,675 ล้านบาท ส่วนหนี้สินรวมเพิ่มขึ้นเป็น 1,990 ล้านบาท
บริษัทไทย ทีวีพูล จดทะเบียนเมื่อปี 2551 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท รายได้ปี 2559 ไม่ได้แจ้ง แต่ย้อนไปดูรายได้ปี 2557 และ 2558 มีรายได้ 224 และ 34 ล้านบาท ส่วนขาดทุนอยู่ที่ 9.8 และ 42.1 ล้านบาท
ขณะที่ภายใต้บริษัทกลุ่มทีวีพูล ที่ทายาทของติ๋ม ทีวีพูลถือหุ้น อย่าง บริษัท ทีวีพูลมีเดีย ที่จดทะเบียนเมื่อปี 2558 ทุน 5 ล้านบาทนั้น มีรายได้ปี 2558 ประมาณ 55.3 ล้านบาท กำไร 3.5 ล้านบาท ปี 2559 รายได้ 40.7 ล้านบาท กำไร 1.2 ล้านบาท
ยังมี ทีวีพูล พับลิชชิ่ง จดทะเบียนเมื่อปี 2558 เช่นกัน มีรายได้ปี 2558 และ 2559 จำนวน 131 และ 141 ล้านบาท กำไร 3.4 และ 2.5 แสนบาท
นี่คือทางเลือกที่ดีที่สุด คือไม่หนี ไม่จ่าย และปล่อยจอดำ จึงต้องทิ้งความฝันอันแสนสั้นไว้เพียงเท่านั้น กลับไปสู่โลกใบเดิม ที่ ติ๋ม ภายในใต้อาณาจักรทีวีพูลในช่องต่างๆ มีรายได้และมีกำไรชัดเจนอย่างที่เห็น.