หนึ่งในกฎหมายใหม่ที่น่าสนใจ และมีผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยแบบใกล้ตัว คือ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560
กฎหมายฉบับนี้ เริ่มมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.2560
ถือได้ว่าเป็นกฎกติกาใหม่เอี่ยม...สำหรับผู้เล่นในสนามการค้าทุกประเภทในประเทศไทย ซึ่งผู้ออกกฎหมายมองว่า การประกอบธุรกิจการค้าทุกประเภทย่อมมีทั้งผู้เล่นรายใหญ่และรายย่อย จึงเป็นธรรมดาที่รายใหญ่มักจะได้เปรียบคู่แข่งรายที่เล็กกว่า ถ้าไม่มีกฎกติกาออกมาเป็น ตัวช่วย การแข่งขันย่อมไม่เป็นธรรม
ลองหลับตานึกภาพ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในการซื้อหาวัตถุดิบไปใช้ในการผลิต หรือบริการต่างๆ ซึ่งผู้ค้ารายใหญ่ หรือเจ้าตลาดมักจะซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่ารายย่อย เพราะซื้อทีละจำนวนมาก อำนาจการต่อรองจึงมีมากตาม รวมทั้ง ยังมีสายป่านที่ยาวกว่า เข้าทำนอง ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก
ถ้ารัฐไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก สุดท้ายผู้เล่นรายเล็กในสนาม ก็ย่อมไม่อาจทานทนอยู่ได้ ต้องล้มหายปิดกิจการไปในที่สุด ดังนั้น ในหลายประเทศจึงมีกฎหมายป้องกันการผูกขาด หรือกฎหมายการแข่งขันทางการค้า เพื่อให้การแข่งขันทางธุรกิจการค้ามีความเป็นธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และสังคมโดยรวม
ตัวอย่างรูปแบบลีลาการผูกขาดทางการค้าที่นิยมทำกัน อย่างเช่น การขายพ่วง หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Tying on Sale ซึ่งใช้วิธีขายสินค้าอย่างหนึ่งที่ตนเป็นเจ้า หรือผู้ครองตลาดอยู่ (ใครๆก็ต้องมาซื้อสินค้านั้นกับตน) พ่วงไปกับการขายสินค้าอีกอย่างที่ต้องการระบาย ถ้าไม่ซื้อสินค้าอย่างหลังพ่วงไปด้วย ก็จะไม่ยอมขายสินค้าอย่างแรกให้
วิธีนี้ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเมืองไทย อย่างเช่น การขายเหล้า พ่วงเบียร์ เป็นต้น
การรวมกิจการ ก็เป็นอีกหนึ่งลีลาของการผูกขาดทางการค้า ที่ผู้ประกอบการหลายเจ้านิยมทำ เพราะหลังจากควบรวมกิจการ นอกจากทำให้กิจการนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้น ยังครองส่วนแบ่งในตลาดมากขึ้นด้วย บางดีลของการควบรวม อาจทำให้มีสัดส่วนการครองตลาดมากถึงร้อยละ 90 ก็มี
ดร.สมชาย รัตนซื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้สอนวิชากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายแข่งขันทางการค้า บอกว่า
ในโลกของการแข่งขันทางธุรกิจการค้าทุกวันนี้ นอกจากมีความดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ยังเต็มไปด้วยเหลี่ยมมุม หรือลีลาการเอารัดเอาเปรียบที่ซับซ้อน
เขาบอกว่า ที่จริงประเทศไทยเคยมีกฎหมายการแข่งขันทางการค้ามานานแล้ว คือ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 แต่เป็นเพราะกฎหมายเดิมขาดประสิทธิภาพจึงยกเลิก และร่างขึ้นมาใหม่
“กฎหมายเดิมปี 2542 องค์ประกอบของคณะกรรมการ กำหนดให้ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ซึ่งบอร์ดหรือคณะกรรมการชุดนี้ จะมีบทบาทก็ต่อเมื่อประธานฯ คือ รมว.พาณิชย์ ต้องเรียกประชุมกรรมการ ถ้าไม่เรียกประชุม ก็จะไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา แทบจะไม่มีการเรียกประชุมเลย”
ดร.สมชายบอกว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวตามกฎหมายใหม่ คือ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 จึงกำหนดให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าทำหน้าที่เต็มเวลา คือ ให้ไปนั่งทำงานทุกวันเป็นประจำ ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยมีสำนักงานของตัวเองแยกเป็นอิสระออกมาต่างหาก เรียกว่า สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า
“แม้กฎหมายจะบังคับใช้แล้ว แต่ล่าสุดยังไม่มีการเลือกคณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งในบทเฉพาะกาลเขียนว่า ให้กรรมการชุดเดิมรักษาการแทนไปก่อน และให้เลือกกรรมการชุดใหม่ ภายใน 270 วัน นับจากวันที่กฎหมายนี้มีผลบังคับ หรือภายในเดือน ก.ค.ปีนี้ นั่นเอง”
อาจารย์สมชายว่า เทียบระหว่างโครงสร้างของกฎหมายเดิม กับของใหม่ ดูเหมือนว่ากฎหมายใหม่ ต้องการให้นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของบอร์ดชุดนี้น้อยที่สุด
“เมื่อก่อนของเดิม มีรัฐมนตรีเป็นประธานบอร์ด ตราบใดที่รัฐมนตรี ไม่เรียกประชุมซะอย่างทุกอย่างก็จบ เพราะคณะกรรมการชุดนี้จะไม่มีบทบาทอะไรเลย ดังนั้น จึงมีการเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างใหม่ ให้กรรมการแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ต้องทำงานเต็มเวลา และพร้อมที่จะทำงานเชิงรุกได้ทุกเมื่อ”
ในแง่เนื้อหาของกฎหมาย คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ บอกว่า ส่วนใหญ่ยังยึดหลักการเดิม แค่เพิ่มเติมในรายละเอียดบางส่วน ให้กฎหมายเดิมมีความชัดเจนขึ้น
เช่น กฎหมายใหม่จะบอกไปเลยว่า ใครคือผู้มีอำนาจเหนือตลาด เช่น ใครบ้างที่จัดว่าเข้าหลักเกณฑ์ถือเป็นผู้ค้ารายใหญ่ในตลาดของกิจการแต่ละประเภท เทียบกับกฎหมายเดิม ที่ยกเลิกไป หลักเกณฑ์ยังไม่ชัดเจนพอ จึงดูไม่ออกว่า ใครคือรายใหญ่ หรือไม่ใหญ่ในตลาด
“สมมติถ้าบอกว่า เซเว่นฯ แม็คโคร โลตัส บิ๊กซีผูกขาด เมื่อก่อนยังไม่มีเกณฑ์ชี้วัด แต่ตามกฎหมายใหม่จะบอกไว้ชัดว่า ใครผูกขาดหรือไม่ ให้คำนึงถึงปัจจัยในการแข่งขัน โดยให้ดูที่จำนวนผู้ประกอบธุรกิจแบบเดียวกันในตลาด ดูที่เงินลงทุน ดูการเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ดูที่ช่องทางการจัดจำหน่าย เครือข่ายในการประกอบธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของธุรกิจนั้น เป็นต้น”
ดร.สมชายบอกว่า หน้าที่หลักของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ถ้าเห็นว่าในบางธุรกิจ วัตถุดิบซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลิตมีน้อยแหล่ง ทำให้โอกาสเข้าถึงวัตถุดิบไม่เท่าเทียม ก็ต้องหยิบมาพิจารณา
หรือกรณีกฎระเบียบของภาครัฐ เช่น สัมปทาน หรือใบอนุญาต ที่ทำให้การแข่งขันมีความได้เปรียบเสียเปรียบ คณะกรรมการแข่งขัน
ทางการค้าก็ต้องนำมาใช้เป็นตัวประกอบในการพิจารณา เป็นต้น
ดร.สมชายบอกว่า ไม่เฉพาะกรณีผู้ค้ารายใหญ่เท่านั้น แม้แต่ผู้ค้ารายเล็กหรือรายย่อยด้วยกัน เช่น รายเล็กเจ้าเก่าในตลาด จับมือกันฮั้วกับรายเล็กเจ้าใหม่ ที่เพิ่งเข้ามาในตลาดเพื่อหวังจะโค่นผู้ค้ารายใหญ่ ไม่ว่าเป็นการจับมือกันขึ้นราคา ลดราคา หรือฮั้วกันจำกัดการผลิตสินค้า กฎหมายก็ห้ามไว้เช่นกัน
“กฎหมายควบคุมการผูกขาด ที่เป็นสากล มีอยู่ 2 รูปแบบหลักๆ คือ 1.ห้ามคุณใหญ่ โดยใช้วิธีควบคุมที่โครงสร้างของธุรกิจ เช่น ที่สหรัฐฯ ถ้าใหญ่เกินไป ศาลสามารถสั่งให้แตกกิจการเป็นบริษัทลูก หรือรายเล็กลงได้ 2.ใหญ่ได้ แต่ห้ามเกเร ใช้วิธีควบคุมที่พฤติกรรม ซึ่งไทยเราเลือกใช้แบบหลังนี้”
“พูดง่ายๆของไทยเรา ใครทำเก่ง ทำดี กิจการใหญ่โตขึ้นมา เราไม่ว่ากัน แต่ห้ามเกเร เช่น บังคับขาย พ่วงขาย แกล้งดัมพ์ราคาลง จนผู้ค้ารายอื่นในตลาดอยู่ไม่ได้ ห้ามฮั้วกันเอง ฮั้วกับทางราชการ และห้ามเทกโอเวอร์กิจการ ซึ่งเดี๋ยวนี้ใครจะเทกโอเวอร์ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการชุดนี้ก่อน”
ดร.สมชายบอกว่า ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าบอร์ดชุดนี้ ชี้ว่า ใครคือผู้มีอำนาจ เหนือตลาด ผู้ประกอบการรายนั้นจะถูกกฎหมายฉบับนี้เข้าไปคุม
ส่งผลให้ถูกห้ามทำหลายอย่าง หรือจะทำได้ ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการก่อน บอร์ดชุดนี้จึงมีอำนาจหน้าที่คล้ายกับบอร์ดของ กสทช.
“กฎหมายฉบับนี้ ต้องการให้มีการแข่งขันในตลาดอย่างเป็นธรรม ถ้าคุณแสดงให้คณะกรรมการ เห็นด้วยไม่ได้ว่า ทำแล้วจะเกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภค หรือต่อสภาพการแข่งขันอย่างไร คุณก็หมดสิทธิ์” ดร.สมชายทิ้งท้าย.