เสียวเลื่อนเลือกตั้ง ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคร่วง รอบ 7 เดือน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เสียวเลื่อนเลือกตั้ง ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคร่วง รอบ 7 เดือน

Date Time: 8 มี.ค. 2561 14:47 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • กังวลเลือกตั้งเลื่อน-หวั่นตกงานยุคดิจิทัล ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.ร่วง ครั้งแรกรอบ 7 เดือน ทำม.หอการค้าฯ แปลกใจ เพราะสวนกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขอดูอีก 2-3 เดือน หวังลงทุนภาครัฐ

Latest


กังวลเลือกตั้งเลื่อน-หวั่นตกงานยุคดิจิทัล ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.ร่วง ครั้งแรกรอบ 7 เดือน ทำม.หอการค้าฯ แปลกใจ เพราะสวนกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขอดูอีก 2-3 เดือน หวังลงทุนภาครัฐมาช่วย...

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ 79.3 จาก 80.0 ในเดือน ม.ค. 61 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 66.1 จาก 67.0 ในเดือน ม.ค.61 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 74.2 จาก 74.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 97.4 จาก 98.0

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. 61 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยมีปัจจัยลบจากความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองที่กังวลการเลือกตั้งเลื่อนออกไปเป็น ก.พ.62, ราคาพืชผลทางการเกษตรบางรายการยังทรงตัวในระดับต่ำ, ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาส 4/60 ขยายตัว 4.0% ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ทั้งปี ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3.9%, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ คาดการณ์ GDP ปี 61 ขยายตัว 3.6-4.6% หลังเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ย, การส่งออกของไทยในเดือน ม.ค. 61 สูงสุดในรอบ 62 เดือน, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง และการเสนอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.61

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุ ค่อนข้างแปลกใจกับการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนนับตั้งแต่เดือน ส.ค.60 เพราะหากพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมในหลายด้านแล้ว ส่วนใหญต่างส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลต่างๆ ที่มีผลต่อการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ทั้งวาเลนไทน์ และตรุษจีน, การส่งออกที่ขยายตัวสูง, ราคาสินค้าเกษตรบางรายการเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ข่าวการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ยังมีน้ำหนักค่อนข้างมากต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เริ่มเห็นทิศทางการฟื้นตัว แต่ปัจจัยเชิงลบที่เป็นปัจจัยที่คงค้างมานาน ไม่ว่ากระแสการปรับโครงสร้างเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ผู้ประกอบการเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรแทนแรงงานคน ทำให้ไม่พิจารณารับคนงานเพิ่ม รวมไปถึงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่หันมาใช้เทคโนโลยีทางการเงินแทนการจ้างบุคลากร และการปรับลดสาขาธนาคารที่ไม่จำเป็นลง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถือว่าสร้างความกังวลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคในแง่ของรายได้และการจ้างงานในอนาคตค่อนข้างมาก

รวมถึงปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเลือกตั้งที่เลื่อนออกไปเป็นเดือน ก.พ.62, การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ เริ่มมีเพิ่มขึ้น ทำให้คนเริ่มไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางการเมืองว่าจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีการเติบโตแบบกระจุกตัว, ภาวะเงินบาทแข็งค่าที่สร้างความกังวลต่อภาคธุรกิจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.พ.ลดลง

อย่างไรก็ตามการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เป็นจุดที่ต้องสังเกตว่าจะมีทิศทางอย่างไรในอนาคตอันใกล้นี้ หากผู้บริโภคเริ่มกลับมามั่นใจในสถานการณ์ทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ น่าจะส่งผลดีต่อการบริโภคสินค้าและบริการในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นในปลายไตรมาส 2 ซึ่งเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 61 ขยายตัวได้ในระดับ 4.2-4.6% ตามที่เคยประมาณการไว้

ทั้งนี้ต้องขอเวลาอีก 2-3 เดือนในการติดตามสถานการณ์ หากเดือนหน้าดัชนีความเชื่อมั่นยังลดลงอีก ก็น่าเป็นห่วง แต่ถ้าประชาชนมองว่าการเมืองมีเสถียรภาพ นโยบายการลงทุนของภาครัฐตามโครงการไทยนิยม รวมทั้งการเดินหน้าลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีผลต่อการกระจายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ทั่วถึงขึ้น เราก็เชื่อว่าประชาชนจะกลับมามีความมั่นใจมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 และช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 เป็นต้นไป

"สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวได้อย่างกระจายตัวมากขึ้น คืองบกลางปี 1 แสนล้านบาท ที่เป็นโครงการต่างๆ ผ่านโครงการไทยนิยม ตลอดจนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในเฟส 2 ที่มีการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ผู้ถือบัตรที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ในระยะสั้น จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีการขยายตัวแบบกระจายตัวได้เร็วขึ้น ส่วนในระยะยาวคงต้องพึ่งพาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เชื่อว่าเมื่อรัฐบาลมีการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ดังกล่าว ตามด้วยการเริ่มจัดซื้อจัดจ้าง และการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการต่างๆ จะเป็นอีกส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในระยะยาวต่อไป"


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ