ผลวิจัยพบแรงงานประมงไทย 11 จังหวัด ได้ค่าจ้างต่ำกว่า ก.ม. ด้านปลัดแรงงาน ยันไม่มีหน้าที่จัดซื้อเครื่องสแกนม่านตาต่างด้าว หลังนายกฯ ตำหนิทำงานอืด แจงไปดูคำสั่ง คสช. มีปลัด มท. เป็นประธาน แย้ม "บิ๊กอู๋" สั่งเช่าเครื่องเอกชน เร่งตรวจยอดค้าง
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นายแกรห์ม บัคลีย์ ผอ.สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาว เปิดเผยผลการวิจัยข้อมูลองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เกี่ยวกับแรงงานประมงและอาหารทะเลในประเทศไทย ตามโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสหภาพยุโรป โดยเป็นงานวิจัยฉบับแรกที่ทำขึ้นในประเทศไทยครอบคลุมทั้งภาคประมง ภาคอาหารทะเลและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในปี 2560 มีการสัมภาษณ์แรงงานต่างด้าวทำงานประมงและอาหารทะเล จากกลุ่มตัวอย่าง 434 คนใน 11 จังหวัด อาทิ ชลบุรี ชุมพร ปัตตานี พังงา ภูเก็ต ระยอง สมุทรสาคร ระนอง ทำการสำรวจการทำงาน ค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน การบังคับใช้แรงงานและการดำเนินการตามกฎหมาย โดยมี นางลุยซา แร็กเฮอร์ อุปทูตของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และนายจินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมปาฐกถาพิเศษ เรื่องสภาพการทำงานของแรงงานประมง
สำหรับผลการศึกษาวิจัยของ ไอแอลโอ ระบุว่า ร้อยละ 34 ของแรงงานประมงและอาหารทะเล ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ในจำนวนนี้ ร้อยละ 52 เป็นแรงงานหญิง ร้อยละ 24 ถูกนายจ้างยึดค่าจ้าง บางคนถูกยึดมากกว่า 12 เดือน หรือมากกว่า ร้อยละ 34 ถูกยึดเอกสาร ส่วนกรณีการทำร้ายร่างกายน้อยลง การใช้แรงงานอายุน้อยกว่า 18 ปี มีน้อยกว่าร้อยละ 1 แรงงานมีสัญญาจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 ซึ่งผลสรุปภาพรวมถือว่าการแก้ปัญหาของไทยดีขึ้น ไอแอลโอ เสนอแนะให้รัฐบาลไทย องค์การนายจ้าง ภาคประชาสังคม และผู้ซื้ออาหารทะเลทั่วโลก ร่วมกันผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายไทยให้มีประสิทธิภาพ ให้เป็นอุตสาหกรรมที่นำไปสู่งานที่ดีมีคุณค่า
นายจรินทร์ กล่าวว่า การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานประมงให้สอดคล้องมาตรฐานสากล ถ้าทำได้แล้วเรื่องทิปรีพอร์ต กับ ไอยูยู จะเป็นผลประโยชน์ตามมา ขณะนี้ได้สแกนม่านตาแรงงานประมงไปแล้วกว่า 1 แสนคน จากทั้งหมด 2 แสนคน เหลือแรงงานต้องสแกนม่านตาอยู่ไม่ถึง 1 แสน อยู่ใน จ.สมุทรสาคร กว่า 6 หมื่นคน จึงได้เคลื่อนย้ายเครื่องจากจังหวัดที่ดำเนินเสร็จแล้วมาช่วยที่จังหวัดนี้อีก 10 เครื่อง จากของเดิมที่มีอยู่แล้ว 2 เครื่อง โดย 1 เครื่องจะสามารถสแกนม่านตาได้วันละ 500 คน หากใช้ 12 เครื่อง จะได้วันละ 6 พัน ภายใน 10 วันจะเสร็จสิ้น
"ที่นายกฯ ตำหนิกระทรวงแรงงาน ไม่ซื้อเครื่องสแกนม่านตา ทำให้งานต่างด้าวอืด คำสั่ง คสช.ระบุไว้ชัดเจน มีคณะกรรมการในเรื่องนี้ มีปลัดมหาดไทยเป็นประธาน การจัดซื้อไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงแรงงาน แต่วันนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ได้ให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ไปศึกษา พิจารณาเช่าเครื่องสแกนม่านตาจากบริษัทเอกชน 10 เครื่อง มาสำรองเครื่องสแกนม่านตาที่ยืมจากกรมเจ้าท่า 30 เครื่อง แต่ใช้การได้เพียง 26 เครื่อง เพื่อให้การพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานประมงเสร็จทันกำหนดวันที่ 31 มี.ค.นี้” ปลัดแรงงาน กล่าว