เมื่อเร็วๆนี้เว็บไซต์ www.brandbuffet.in.th ได้ลงบทความโดยอ้างอิงข้อมูลจาก “We Are Social” ดิจิทัล เอเจนซี และ “Hootsuite” ผู้ให้บริการระบบจัดการโซเชียลมีเดียระบุว่า ในปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้สมาร์ทโฟนเครื่องแรกในชีวิตไม่ต่ำกว่า 200 ล้านคน และประชากรของโลก 7,600 ล้านคนนั้น พบว่า 2 ใน 3 มีโทรศัพท์มือถือ
จำนวนผู้คนที่ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นนี้เอง ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดย 9 ใน 10 คน ของคนใช้งานโซเชียลมีเดียใช้ผ่านทางสมาร์ทโฟน
ขณะที่ประเทศไทยมีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจำนวน 51 ล้านคน จากประชากร 69.11 ล้านคน โดยมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ 93.61 ล้านเลขหมาย ซึ่งพบว่ามีคนไทยที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำผ่านทางสมาร์ทโฟน 46 ล้านคน
สถิติที่ยกมาข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าในปัจจุบันการใช้โซเชียลมีเดียผ่านทาง “สมาร์ทโฟน” แพร่หลายไปทุกพื้นที่ ในคนทุกระดับชั้น ขณะเดียวกัน ข่าวการใช้โซเชียลมีเดียไปในทางที่ผิด ละเมิดสิทธิของผู้อื่นก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว มีทั้งแบบ ไร้สติ หรือเอาแต่สนุกโดยไม่คิดถึงผลกระทบของผู้อื่น ทั้งที่เป็นการโพสต์ข้อความ รูปภาพ คลิปวีดิโอ
ผสมผสานกับการกดไลค์ กดแชร์ ทำให้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น บางครั้งอาจหลงลืม หรือ ขาดความรู้เรื่องกฎหมาย อาจนำไปสู่การติดคุกติดตะรางเอาได้ง่ายๆ
ฉะนั้น ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 หรือเรียกสั้นๆว่า พ.ร.บ.คอมฯ ขั้นพื้นฐานไว้กันบ้าง เพื่อที่จะไม่ต้องมานั่งเสียเวลา เสียเงินไปกับเรื่องรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเพียงแค่คิดสนุกๆ เล่นๆ ไม่ได้คิดอะไร แต่อาจทำให้เราเดือดร้อนได้เช่นกัน
เพราะเมื่อโพสต์ข้อความ รูปภาพ คลิปวีดิโอไปแล้ว มีการกดไลค์ กดแชร์ ส่งต่อ การจะตามไปลบข้อความทุกข้อความที่แชร์ออกไปนั้น เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและลำบากมาก เพราะไม่รู้ข้อมูลนั้นได้ล่องลอยไปอยู่แห่งหนใด แม้บางครั้งจะประกาศแจ้งผ่านสังคมออนไลน์ว่าได้ลบข้อความนั้นไปแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าวันข้างหน้า ข้อมูลนั้นอาจย้อนกลับมาได้อีก
ยกตัวอย่างกรณีที่มีการนำรูปเด็กที่ถูกทำร้ายมาโพสต์ แม้จะลบรูปแล้วในวันนี้ แต่ไม่รู้ในอนาคต รูปภาพเหล่านั้นอาจวนกลับมาตอกย้ำความเจ็บปวดนั้นอีกก็เป็นได้ ฉะนั้นไม่จำเป็นก็อย่าโพสต์ข้อความ รูปภาพ ที่ ละเมิดสิทธิของคนอื่นๆ และอีกหลายๆกรณีที่โพสต์ไปแล้ว แต่ต้องการลบข้อมูลนั้น ก็ไม่สามารถลบได้หมด
ดังนั้น ลองมาทำความเข้าใจกับ พ.ร.บ.คอมฯ แบบง่ายๆ ถึงสิ่งที่ไม่ควรกระทำตามที่กฎหมายระบุไว้ดังนี้
1.ห้ามโพสต์ข้อความใดๆ หรือสร้างเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือว่ามีโทษผิดร้ายแรง มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษตามกฎหมายอาญา มีโทษจำคุก 3-15 ปี
2.ห้ามโพสต์ด่าว่าผู้อื่น เรื่องที่ไม่เป็นจริง ข่าวลือ หลอกลวง และทำให้เกิดความชุลมุนวุ่นวาย ผู้อื่นเสียหาย เดือดร้อน มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 200,000 บาท
3.ห้ามนำภาพและคลิปวีดิโอของบุคคลทั้งที่มีชีวิตและเสียชีวิตมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต และยังนำมาดัดแปลง ตัดต่อ จนทำให้เกิดความเสียหาย สร้างความเดือดร้อน หากบุคคลในภาพนำไปฟ้องร้องดำเนินคดี บุคคลที่ถ่ายภาพ หรือนำภาพนั้นไปแชร์ต่อ ก็จะมีความผิด มีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
4.ห้ามโพสต์ภาพโป๊ เปลือย สิ่งลามกอนาจารทั้งหลายมีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท
5.ห้ามส่งภาพหรือข้อมูลที่เป็นการรบกวนผู้อื่น เช่น ฝากร้านค้าในเฟซบุ๊ก ไอจี หากมีการฟ้องร้อง ก็จะมีโทษปรับ 100,000 บาท
6.ห้ามนำภาพ เพลง วีดิโอ ที่มีลิขสิทธิ์มาโพสต์ มาแชร์ เพราะจะมีความผิด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2558
7.ห้ามโพสต์เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน โดยไม่ปิดบังใบหน้า ยกเว้นเป็นการเชิดชู ชื่นชม อย่างให้เกียรติ
8.ห้ามเข้าใช้มือถือ คอมพิวเตอร์ เฟซบุ๊ก ไอจี คนอื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต ถ้าแอบเข้าไปใช้ มีโทษจำคุก 6 เดือน
9.ห้ามเจาะระบบคอมพิวเตอร์ หรือมือถือ แล้วเอาข้อมูลไปเผยแพร่ให้คนอื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี
สังคมออนไลน์ เปรียบเสมือนดาบสองคม หากผู้ใช้ขาดคุณธรรมจริยธรรม สามัญสำนึก การไม่รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่นและไม่มีความระมัดระวังในการใช้งาน ก็จะทำให้สังคมออนไลน์ แปลงร่างกลายเป็น “สังคมอันตราย” ทันที
ดังนั้น ก่อนโพสต์ข้อความ รูปภาพ คลิปวีดิโอ ต้อง “คิดให้ดี” เพราะหากโพสต์ผิด ชีวิตเปลี่ยนทันที จากชีวิตที่อยู่ดี อาจจะเปลี่ยนที่ไปอยู่ในคุกได้.
ดวงพร อุดมทิพย์