“ประสาร” ชี้คอร์รัปชันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เหนี่ยวรั้งการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ยังไม่มีระบบที่จะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง เสนอตั้งสำนักงานขึ้นมาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ พร้อมชงตั้งองค์กรอิสระเก็บภาษีแทนกระทรวงการคลัง หนุน ธปท.ดึงแบงก์พาณิชย์ ไม่ให้เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัล
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงกรณีที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานสถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2561 ว่า ประเทศไทยมีโจทย์ที่ต้องแก้ในเรื่องนี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการแก้ไขระบบที่จะลดการคอร์รัปชันอย่างจริงจัง โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจมีกรอบแนวความคิดว่า ปัญหากฎหมายที่มีจำนวนมากล้าสมัยและมีช่องโหว่จากการให้ใช้ดุลพินิจ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาคอร์รัปชันรุนแรง นับเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เหนี่ยวรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่การลดการคอร์รัปชันที่ผ่านมา โดยใช้แนวทางการเพิ่มความเข้มงวดหรือขันนอตในกระบวนการต่างๆ ซึ่งบางครั้งไม่ได้แก้ปัญหา แต่กลับไปสร้างปัญหา ทำให้คนดีทำงานได้ยาก
ทั้งนี้ ในแผนปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ได้มองถึงบริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรและเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ได้กำหนดแนวทางการวางโครงสร้างและการพัฒนา สถาบันทางเศรษฐกิจให้มีชีวิต เพื่อที่จะปรับได้ทันกับพลวัตของสิ่งแวดล้อมในเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วและสามารถว่างแนวทางป้องกันในแต่ละสถานการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ในแผนที่จัดทำไม่ได้บรรจุแผนเกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเงินใหม่ๆไว้โดยเฉพาะ
“เรื่องนี้ในความเห็นส่วนตัวไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางการเงินลักษณะเหมือนบิทคอยน์ และมองว่าการพัฒนาทางการเงินควรต้องแยกระหว่างเทคโนโลยี กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพราะอาจจะทำให้คนเข้าไปลงทุนนั้นไม่เข้าใจว่าคืออะไร ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางว่ามีอะไรเป็นสินทรัพย์หนุนหลัง และโครงสร้างผู้ถือครองคือใคร หรือจัดการอะไรอยู่ตรงไหน ความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มการจัดการเป็นอย่างไร ถ้าเทคโนโลยีดีมีประโยชน์ก็เป็นสิ่งที่ดี ถ้าโปรดักส์ดึงคนที่ขาดความเข้าใจเข้าไปลงทุน ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดก็จะเกิดปัญหาตามมาได้ ผมเห็นด้วยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหนังสือเตือนไม่ให้ธนาคารพาณิชย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี หรือเงินสกุลดิจิทัล เพราะอย่างน้อยก็เป็นการกันแบงก์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่รับเงินฝากจากประชาชนและเกี่ยวข้องกับเสถียรภาพเศรษฐกิจออกมาก่อน”
ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปด้านเศรษฐกิจได้มองถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนซึ่งมีข้อเสนอให้มีการจัดตั้งสำนักงานบูรณาการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายให้เกิดผลจริง ซึ่งอาจจะเป็นการตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่หรือหน่วยงานที่มีอยู่เดิม เช่นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เดิมมีหน้าที่แค่ติดตามเก็บสถิติ เป็นการเพิ่มอำนาจ ให้เข้าไปกำหนดทิศทางได้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินงบประมาณของรัฐบาล แม้ว่าในปัจจุบันนี้ได้มีถึง 43 โครงการของหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการดูแลระบบสาธารณสุข การศึกษา การดูแลสวัสดิการสังคม แต่โครงการต่างๆทับซ้อนและไม่บูรณาการกัน ดังนั้น หน่วยงานที่จะมาดูภาพรวม อาจจัดสรรงบประมาณใหม่ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน
นอกจากนี้ เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มศักยภาพด้านการคลัง แนวทางปฏิรูปที่สำคัญคือ เพิ่มสัดส่วนรายได้จากภาษีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ให้สูงขึ้น จึงเสนอให้มีองค์กรจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระ (Semi-Autonomous Revenue Agency : SARA) การปรับปรุงระบบภาษีในอัตราก้าวหน้าเพื่อให้กลุ่มที่มีรายได้สูงสุดมีส่วนรับภาษีเพิ่มขึ้น และขยายฐานการจัดเก็บภาษีไปสู่ทรัพย์สินรูปแบบต่างๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจในงบประมาณปี 2561 ที่เกี่ยวข้องกับโครงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ พบว่ารัฐบาลมีงบประมาณในยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความยากจน 331,920 ล้านบาท และมีงบประมาณสำหรับสวัสดิการประชาชน 579,790 ล้านบาท.