นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “ผ่าทางตัน : โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ว่า การที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายให้เลื่อนการดำเนินงานโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ออกไปอีก 3 ปีถือว่ายังไม่ล่าช้าเกินไป เพราะยังมีไฟฟ้าให้ใช้เพียงพอต่อความต้องการของภาคใต้ไปอีก 2-3 ปี แต่หากดูจากการเติบโตของเศรษฐกิจภาคใต้คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มขึ้นอีก 500 เมกะวัตต์จากปัจจุบันที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (พีค) 2,500 เมกะวัตต์ จึงยังมีความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้า แต่ที่ยังมีความกังวลหากในช่วงเวลา 3 ปี มีการเปลี่ยนคณะรัฐบาลชุดใหม่ หรือ รมว.พลังงานคนใหม่จะทำให้นโยบายการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเปลี่ยนไปและต้องมาทบทวนแผนใหม่ทั้งหมดอีกครั้งหรือไม่
นายมนูญ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยถึงจะมีกำลังสำรองไฟฟ้าสูง แต่ต้องคำนึงถึงชนิดของเชื้อเพลิงด้วย ซึ่งความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ขณะนี้อาจไม่จำเป็น แต่ในอนาคตต้องสร้างอย่างแน่นอน เพื่อความสมดุลด้านพลังงาน เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไป และหากจะมีการใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดก็สามารถทำได้ แต่จะไม่มีความเสถียร จึงต้องมีทั้งเชื้อเพลิงหลักควบคู่กันไป
นายบรรพต แสงเขียว รองประธานบริษัทเกาะกง ยูนิลิตี้ จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้รับสัมปทานโรงไฟฟ้าถ่านหินในเขตเศรษฐกิจพิเศษของกัมพูชา มีกำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์ พร้อมจะส่งขายให้กับภาคใต้ของประเทศไทยในราคา 2.67 บาทต่อหน่วยในระยะสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 30 ปี โดยกระทวงพลังงานของกัมพูชาได้ส่งหนังสือมาที่รัฐบาลไทยแล้วแต่ยังรอคำตอบจากรัฐบาลไทยอยู่.