ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ เพิ่งไปพูดเรื่อง ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ว่า เป็นโครงการที่รัฐบาลสร้างขึ้นมา เพื่อให้มีความโดดเด่นในการดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ หลังจากที่ไทยหยุดลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มานานกว่า 10 ปี วันหนึ่งข้างหน้าจะรู้กันเองว่า อีอีซีจำเป็นต้องเกิด และถ้าไม่เกิด ความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะค่อยๆด้อยลงไป การลงทุนจะย้ายไปประเทศอื่น เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย ทำให้การสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศเป็นไปได้ยาก และถ้าเชื่อมโยงดิจิทัลไม่ได้ การยกระดับสินค้าเกษตรก็ทำได้ยากอนาคตประเทศไทยอยู่ในมือเราว่า จะเลือกแบบไหน?
เป็นคำถามที่ท้าทายอย่างยิ่ง
ผมคนหนึ่งละที่ขอเลือกอย่างแรก ผมเห็นด้วยกับ ดร.สมคิด ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และ อย่างขนานใหญ่ด้วย เพราะโครงสร้างพื้นฐานไทยที่มีอยู่เก่าแก่และล้าหลังมาก โดยเฉพาะ ระบบการขนส่งทางบกและทางน้ำ เช่น ระบบมอเตอร์เวย์ ระบบราง ระบบการเดินเรือทางน้ำ ระบบขนส่งมวลชน ไทยล้าหลังทุกเรื่องเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว แม้เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดหลังไทยเกือบ 200 ปีอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ ถ้ารัฐบาลยุคทหารที่ครองอำนาจมา 4 ปียังทำไม่ได้ ก็คงไม่มีรัฐบาลไหนทำได้ในอนาคต
ยิ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ยิ่งทำยากขึ้นอีกหลายเท่า เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนจะมีมากกว่ายุคนี้อีกหลายเท่า ต้นทุนที่แพงเกินไปแล้วในยุคนี้จะแพงขึ้นอีกหลายเท่า คนที่จะเสียประโยชน์โดยตรงก็คือ ประชาชนผู้เสียภาษีนั่นเอง
ขนาดระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกยังไม่ทันเริ่มลงเข็ม เพราะกฎหมายอีอีซียังไม่คลอด คุณกุลยา ตันติเตมิท โฆษกกระทรวงการคลัง ก็ออกมาแถลงว่า คลังได้ปรับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2561 เพิ่มเป็นร้อยละ 4.2 จากเดิม ร้อยละ 3.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เพราะจีดีพีปี 2560 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 4 ดีเกินคาด ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี
ด้วยแรงส่งของจีดีพีปี 2560 ผมคิดว่าจีดีพีปี 2561 น่าจะดีกว่าปี 2560 แน่นอน เมื่อผสมกับแรงส่งจากการลงทุนครั้งใหญ่ของรัฐบาลใน โครงการะเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้ง สนามบิน รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ ท่าเรือนํ้าลึก ถ้าแรงส่งทั้งหมดเป็นไปตามแผน ผมเชื่อว่าจีดีพีปี 2561 อาจจะโตได้มากกว่าร้อยละ 4.2 ด้วยซํ้า
เห็นได้ชัดจาก สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ก็เริ่มแออัดแล้ว แม้โครงการอีอีซียังไม่เริ่ม ปี 2560 ที่ผ่านมามีเที่ยวบินเข้าออกทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สนามบินอู่ตะเภา มากกว่า 10,000 เที่ยวบินแล้ว โดยมีสายการบินให้บริการที่สนามบินอู่ตะเภาทั้งหมด 5 สาย คือ แอร์เอเชีย บางกอกแอร์ นกแอร์ ไลนอ้อนแอร์ และ สายการบินจีน ไม่นับเที่ยวบินเหมาลำในช่วงไฮซีซั่นอีกต่างหาก
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สายการบินกาตาร์ ก็เป็น สายการบินที่ 6 ที่บินตรงจาก กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ มาลงที่ สนามบินอู่ตะเภา เป็นเที่ยวบินแรก ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ พร้อมผู้โดยสารอีก 254 คน โดยจะให้บริการ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
วันก่อนผมคุยกับ ดร.คณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ท่านยืนยันกับผมว่า โครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา จะเป็น โครงการแรกในอีอีซี เพื่อให้สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เป็นสนามบินกรุงเทพฯแห่งที่ 3 เพราะรันเวย์ของสนามบินสุวรรณภูมิมีความหนาแน่นมาก สนามบินทั้ง 3 แห่ง สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา จะเชื่อมถึงกันหมดด้วย รถไฟความเร็วสูง สนามบินก็คือประตูประเทศที่เปิดรับทุกอย่าง เมื่อสนามบินอู่ตะเภาเกิด ผมเชื่อว่าโครงการทุกอย่างจะเกิดตามมาแน่นอน จะยั้งยังไงก็ยั้งไม่อยู่แล้ว.
“ลม เปลี่ยนทิศ”