กำลังระอุแดดเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่ทำเอากระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบบตรวจสอบคัดกรองของแบงก์และแบงก์ชาติ ตลอดจนการพิสูจน์อัตลักษณ์ตัวตนของผู้คนระส่ำไปหมด
กับกรณีของ “น้องอะตอม–น.ส.ณิชา เกียรติธนะไพบูลย์” พนักงานบริษัทเอกชนที่ถูกแก๊ง “คอลเซ็นเตอร์” ขโมยบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีธนาคารถึง 7 แห่ง รวม 9 บัญชี เพื่อรับโอนเงินจากเหยื่อที่ถูกแก๊งเหล่านี้หลอกให้โอนเงินทำให้เจ้าตัวถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านตาก จ.ตาก ดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงถูกจับยัดคุกไปถึง 3 วัน
หลังเรื่องโฉ่ขึ้นมา ผู้เกี่ยวข้องต่างปกป้องอาณาจักรตนเองเป็นพัลวัน นายตำรวจน้อย-ใหญ่ใน บช.ภ.6 ดาหน้าออกมาปกป้องการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่กันพร้อมเพรียง ทุกอย่างเดินไปตามเอกสารหลักฐาน ปฏิบัติตามขั้นตอน เมื่อออกหมายเรียกผู้ต้องสงสัยไปถึง 2 ครั้ง แต่ไม่มารายงานตัวจึงต้องออกหมายจับนำตัวมาดำเนินคดี
ไม่มีการพูดถึงประเด็นที่ผู้ต้องหาอุตส่าห์หอบหิ้วเอกสารหลักฐานที่ตัวเองต้องตกเป็นเหยื่อเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ ตร. เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ที่ควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม แต่กลับถูกจับยัดซังเตทำให้ต้อง “สูญเสียอิสรภาพ” ไปถึง 3 วัน โดยไม่นำตัวส่งศาล ทั้งที่กฎหมายให้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ไม่เกิน 48 ชม. หรือ 2 วันเท่านั้น ยกเว้นมีเหตุจำเป็นแห่งคดีที่ทำให้ต้องควบคุมเกินกว่ากฎหมายกำหนด
ฟากฝั่งบรรดานายธนาคารต่าง “ดิ้นพล่าน” ตรวจสอบกระบวนการตรวจสอบอัตลักษณ์ตัวตนภายในกันขนานใหญ่และดาหน้าออกมาแก้ต่างความหละหลวมที่เกิดขึ้นเป็นเพราะกฎหมายไม่ได้บังคับให้ลูกค้าต้องถอดหน้ากาก ยกเว้นกรณีสวมหมวกไหมพรมหรือหมวกกันน็อกเข้ามาในแบงก์ รวมถึงเหตุที่แบงก์ไม่มีการออนไลน์ข้อมูลตรวจสอบอัตลักษณ์ตัวตนของผู้ถือบัตรได้
ส่วนคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงินหรือ ปปง. ก็งัดมาตรการ “วัวหายล้อมคอก” เรียก 36 สถาบันการเงินมาซักซ้อมมาตรการตรวจสอบอัตลักษณ์ตัวบุคคลที่เข้ามาเปิดบัญชีและถึงขั้นประกาศก้องหากสถาบันการเงินใดละเลยตรวจสอบมีโทษปรับถึงบัญชีละ 1 ล้านบาท ทั้งหลายทั้งปวงคงปล่อยให้เป็นเรื่องที่แต่ละหน่วยงานว่ากันไป
อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์ของแก๊งอุบาทว์เช่นว่านี้ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นหรือกระทำเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้มิจฉาชีพพวกนี้ก็เคยล้วงตับเจ้าของเงินฝากด้วยการแฮ็กเข้าเฟซบุ๊ก หรือแฮ็กเข้าไลน์สวมรอยเป็นเจ้าของบัญชีทำการเปลี่ยนรหัสโยกเงินในบัญชี จนทำเอาระบบโอนเงินออนไลน์บนสมาร์ทโฟนหรือ “โมบายแบงก์กิ้ง” ระส่ำกันมาหนแล้ว
จะว่าไปการ “สวมรอย” นำเอาบัตรประชาชนไปลักลอบเปิดบัญชี หรือหลอกลวงผู้คนให้เปิดบัญชีรับโอนเงินให้กับแก๊งอุบาทว์เหล่านี้ จนมีผู้ตกเป็นเหยื่อไม่รู้กี่พันกี่หมื่นรายเข้าไปแล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องสลับซับซ้อนอะไรเลยก็แค่ลูกไม้ตื้นๆ หากินกับผู้คนที่กำลังสิ้นหวังหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ธรรมดาคนเรายามเจ็บไข้ได้ป่วยถึงขั้นต้องล้มหมอนนอนเสื่อ หรือเจ็บป่วยออดๆแอดๆ หากจะเข้ามาทำธุรกรรมเบิกเงินแบงก์เพื่อไปซื้อหยูกยารักษาตัวก็เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ แต่หากถึงขั้นต้องลากสังขารเข้ามาเพียงเพื่อเปิดบัญชีใหม่ 300-500 บาท หรือจะ 1,000 บาท ก็เถอะ คงเป็นเรื่องประหลาดแล้ว มันใช่เรื่องคอขาดบาดตายถึงขนาดจะรอให้อาการเจ็บไข้ได้ป่วยหายก่อนไม่ได้เชียวหรือ?
สิ่งเหล่านี้ หากเจ้าหน้าที่หน้าเคาน์เตอร์จะใช้ความสังเกตสังกาสักนิด คงจะตามเล่ห์กลและลูกเล่นของแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ได้อยู่ เพราะต่อให้วางระบบดีแค่ไหน หากผู้ปฏิบัติงานขาดปฏิภาณไหวพริบก็จบเห่ มีสิทธิ์เกิด Human Error ได้ทุกเมื่อ!
บทเรียนกรณี “น้องณิชา” ไม่เพียงจะเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเยียวยาต่อผู้เสียหายแล้ว ยังต้องเร่งแสวงหามาตรการสกัดกั้นเล่ห์เพทุบายของแก๊งอุบาทว์เหล่านี้โดยเร็ว โดยเฉพาะทำอย่างไรจะไม่ทำให้ผู้คนโดยทั่วไปตกไปเป็นเหยื่อแก๊งอุบาทว์เหล่านี้โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวเพิ่มขึ้นมาอีกไม่หยุดหย่อน
จะผุด “คอลเซ็นเตอร์” ให้ผู้คนตรวจสอบพฤติกรรมที่มันไม่ชอบมาพากลที่จำได้ง่ายที่สุด หรือจัดทำคู่มือ-แผ่นพับคำเตือนตั้งหราหน้าเคาน์เตอร์แบงก์ ออนไลน์เข้ามือถือเปิดที่ไหนเป็นเจอก็ต้องทำ คอลเซ็นเตอร์เดิมที่มีอยู่มีจุดอ่อนด้านประชาสัมพันธ์ตรงไหนอย่างไร ทุกฝ่ายคงประจักษ์กันอยู่แล้ว
ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจที่แม้รัฐบาลเอาแต่กรอกหูว่า “ดีวันดีคืน” แต่ผู้คนกลับโหยหาอะไรที่พอจะหยิบฉวยเป็นรายได้ก็ต้องคว้าไว้ก่อนด้วยแล้ว แถม “ช่องโหว่” ของเมืองไทยที่สามารถจะเสาะหาบัตรประชาชนของผู้คนได้ง่ายยิ่งกว่าปลาทูในตลาด เพราะจะตึกไหนหมู่บ้านใด หรือส่วนงานราชการใดที่กำหนดให้ผู้คนต้องแลกบัตรแล้ว
มีให้ช็อปได้ทั่ว!!!
ชูชาติ สว่างสาลี