ปี 2557-2559 เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลก ตกอยู่ในอาการซึม เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลาย หรือข้าวของขายไม่ออก สวนทางกับกำลังซื้อ แต่นับจากปี 2560 เป็นต้นมา ภาวะดังกล่าวเริ่มส่อเค้าทุเลาลง และนำไปสู่การปรับสมดุลด้านการบริโภค
หลายสำนักโหรทางเศรษฐกิจต่างพยากรณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปีระกา 2560 จะขยายตัวอยู่ที่ 3.5-4% โดยค่อยๆฟื้นตัว หลังจากรัฐบาลอัดฉีดงบกลางลงไปขับเคลื่อนลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ปี 60 จึงถือได้ว่าเป็นปีแห่งการปรับตัว และเน้นสร้างความเข้มแข็งในประเทศ
ในแง่ธุรกิจเด่นของปีระกา 2560 โดยภาพรวมยังคงเป็นไปตามทิศทางหลักของโลก ที่อิงอยู่กับระบบ ดิจิทัล เป็นตัวหลัก ซึ่งทำให้ทั้งกระแสของ กลุ่มอี-คอมเมิร์ซ และบริการทางการเงิน แบบฟินเทค ยังคงมาแรง (ฟินเทค หมายถึง การนำเอาเทคโนโลยีทางด้านการเงินเข้ามาใช้ เช่น ตู้เอทีเอ็ม โมบายแบงกิ้ง การจ่ายเงินด้วยระบบออนไลน์ต่างๆ เป็นต้น)
ยกตัวอย่าง เวลาจะโอนเงินให้แก่กัน ทุกวันนี้หลายคนเริ่มไม่ไปธนาคารกันแล้ว แต่หันมาใช้วิธีโอนเงินผ่านระบบ โมบายแบงกิ้ง
(บริการธนาคารทางโทรศัพท์มือถือ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ฟินเทค” ช่วยให้สามารถจัดการเรื่องการเงินในรูปแบบต่างๆได้ทุกวันและทุกที่ ผ่านอินเตอร์เน็ตเบราว์เซอร์ บนมือถือของตัวเอง
หรืออย่างในยามต้องการจะซื้อของผ่านทางอินเตอร์เน็ต ก็สามารถชำระหรือโอนเงินผ่านตัวกลางอย่าง Paypal หรือ Rabbit pay ได้อย่างสะดวกง่ายดาย ภายในเวลาไม่กี่วินาที ไม่ต้องเดินทาง หรือไปต่อคิวที่ธนาคารให้ยุ่งยาก เป็นต้น
ถัดมา การมีสภาพเป็นสังคมเมือง ทั้งในกรุงเทพฯ ชานเมืองและจังหวัดใหญ่หลายแห่ง มีผลทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทย มีวิถีชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงตาม ที่เห็นชัดเจนสุดก็คือ เริ่มมีการซื้อสินค้าตาม ห้างโมเดิร์นเทรด หรือธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่มากขึ้นเกินกว่า 50%
เช่น แทนที่จะซื้อสินค้าจากตลาดสด หรือตามร้านค้าโชห่วย ทุกวันนี้มีแต่คนเดินเข้าไปจับจ่ายในแหล่งค้าปลีกติดแอร์ ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า อย่างเซ็นทรัล เดอะมอลล์ ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ ไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือดิสเคาต์สโตร์ อย่างบิ๊กซี เทสโก้ โลตัส คาร์ฟูร์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต อย่าง ท็อปส์ และ ร้านค้าสะดวกซื้อ หรือ มินิมาร์ท อย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น แทบทั้งนั้น
นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ยังทำให้ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ การเสริมความงาม การออมเงิน และการประกันภัย ประกันชีวิต ในรอบปีระกา 2560 เป็นธุรกิจดาวรุ่ง หรือมีอัตราเติบโตดีหลายปีต่อเนื่อง
เทียบกันกับบรรยากาศของ ปีจอ 2561 ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเจ้าเก่า ได้ออกมาฟันธงถึง 10 อาชีพหรือธุรกิจดาวรุ่ง และ 10 อาชีพดาวร่วง เอาไว้เช่นเคย
ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี กับ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกันคาดประมาณ และตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจ
โดยคาดว่า ภาวะเศรษฐกิจในปี 2561 จะขยายตัวในช่วง 4.2–4.5% ภาคการส่งออกขยายตัว 4.3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 1.6% ซึ่งใกล้เคียงกับที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการไว้ว่า ทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2561 น่าจะเติบโตได้ถึง 4% โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยว ที่ยังขยายตัวต่อเนื่องและกำลังซื้อของประชาชนฐานรากที่เพิ่มขึ้น ตามมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐ
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่ดี กรณีรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การพัฒนาอินเตอร์เน็ตตำบล รวมทั้ง แนวโน้มระดับราคาสินค้าเกษตร ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
ส่วนปัจจัยด้านลบ น่าจะเป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจ ที่สร้างความไม่แน่นอนให้แก่เศรษฐกิจโลก สถานการณ์ความขัดแย้ง และการก่อการร้าย ปัญหาหนี้สินครัวเรือน หนี้เสียของธุรกิจขนาดกลางและย่อม ทำให้สถาบันการเงินกังวล และความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว
จากปัจจัยดังกล่าว ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงได้จัด 10 อันดับธุรกิจเด่น หรืออาชีพดาวรุ่ง และ 10 อันดับอาชีพดาวร่วง ประจำปี 2561
โดยพยากรณ์ว่า ธุรกิจดาวรุ่ง หรืออาชีพที่โดดเด่น ประจำปีจอ 2561 อันดับแรก ยังคงได้แก่ แพทย์ทางด้านผิวหนัง และศัลยกรรม ซึ่งครองอันดับ 1 ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 จากกระแสการให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพ และการดูแลความงามของคนสมัยนี้
อันดับ 2 คือ โปรแกรมเมอร์ วิศวกรซอฟต์แวร์ และ นักพัฒนา นักวิเคราะห์ข้อมูล อันดับ 3 นักการตลาดออนไลน์ รีวิวเวอร์ เน็ตไอดอล อันดับ 4 นักการเงิน นักวิเคราะห์ และที่ปรึกษาทางด้านไอที อันดับ 5 กราฟฟิกดีไซน์ และ นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร
อันดับ 6 นักวิทยาศาสตร์ด้านความงาม และ อาชีพที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อันดับ 7 ผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ตอัพ และ อี–คอมเมิร์ซ อันดับ 8 อาชีพในวงการบันเทิง สถาปนิก มัณฑนากร อันดับ 9 ครูสอนพิเศษ ติวเตอร์ งานด้านโลจิสติกส์ และการขนส่ง และอันดับ 10 นักบัญชี
ส่วน 10 อาชีพดาวร่วง หรือไม่โดดเด่น ในปี 2561 อันดับแรก คือ คนตัดไม้ และ ช่างไม้ไร้ฝีมือ อันดับ 2 พ่อค้าคนกลาง อันดับ 3 อาชีพย้อมผ้า อันดับ 4 บรรณารักษ์ กับ ไปรษณีย์ส่งจดหมาย อันดับ 5 พนักงานขายสินค้าหน้าร้าน
อันดับ 6 ตัดเย็บเสื้อผ้าโหล อันดับ 7 ช่างทำรองเท้า ซ่อมรองเท้า อันดับ 8 เกษตรกร และ ครูอาจารย์ อันดับ 9 แม่บ้านทำความสะอาด และอันดับ 10 นักหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และ ผู้สื่อข่าว
แหล่งข่าวผู้หนึ่งตั้งข้อสังเกต จะเห็นว่าอาชีพ นักหนังสือพิมพ์ คนทำนิตยสาร และ ผู้สื่อข่าวภาคสนาม กลายเป็นอาชีพที่ติดโผ 10 อันดับดาวร่วง เป็นปีแรก
“เพราะปัจจุบันคนเริ่มหันไปบริโภคข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียล มีเดียมากขึ้น แถมใครๆก็ยังทำตัวเป็นนักข่าว รายงานข่าวผ่านโซเชียล มีเดีย บนโทรศัพท์มือถือของตัวเอง ไม่ว่าเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือยูทูบ ได้ทั้งนั้น ส่วนจะรายงานถูกๆผิดๆ เชื่อถือได้หรือไม่ นั่นมันอีกเรื่อง แต่ดูเหมือนคนไทยส่วนใหญ่ ไม่สนอยู่แล้ว เพราะมักเลือกเชื่ออะไรที่สะดวก รวดเร็ว มากกว่าจะรอการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องซะก่อน”
แหล่งข่าวบอกว่า ภาพสะท้อนอีกอย่างที่เห็นชัดก็คือ เมื่อเกือบ
20 ปีที่แล้ว เม็ดเงินโฆษณาในเมืองไทย ถูกขับเคลื่อนโดยสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีมูลค่าอันดับ 1 และ 2 ตีคู่กันมาตลอด
แต่เมื่อปีที่แล้วนี้เอง นับเป็นครั้งแรกที่ “สื่อดิจิทัล” เช่น การใช้ป้าย Billboard ในการโฆษณา สามารถแซงขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสื่อโฆษณาอันดับ 2 แทนที่หนังสือพิมพ์ ด้วยมูลค่าเม็ดเงินเกือบ 12,000 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาดเกือบ 13% จากมูลค่าสื่อโฆษณาทั้งหมดของปี 2560 โดยรวมราว 91,195 ล้านบาท
แหล่งข่าวคนเดิมชี้ให้เห็น
“หมายความว่า นอกจากความเร็วของเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตเนื้อหาข้อมูลข่าวสาร เป็นตัวชี้วัดตัดสินชัยชนะของการทำสื่อสมัยนี้ เม็ดเงินโฆษณาก็ยังพุ่งไปที่สื่อดิจิทัลอีก ถ้าวันนี้สื่อในกระแสหลัก อย่างทีวี หนังสือพิมพ์ ยังไม่เสนอประเด็นที่ตรงใจผู้ชมหรือคนอ่านลึกกว่า ต่างกว่า หรือน่าเชื่อถือกว่าสื่อโซเชียลและดิจิทัล ย่อมรอดยาก”.