ซีอีโอเอไอเอสเสนอปลดแอกธุรกิจทีวีดิจิทัลและค่ายมือถือ ใช้ ม.44 ยอมให้คืนใบอนุญาตทีวี ไม่ต้องจ่ายเงินต่อ ดีกว่าปล่อยให้ตาย พร้อมจับมือทรูขอยืดชำระค่าประมูลคลื่น 900 งวด 4 ส่วนดีแทคที่สัมปทานจะหมดอายุปีนี้ ให้ใช้ ม.44 จัดสรรคลื่นให้ดีแทคไปเลย ภายใต้ต้นทุนเดียวกันกับเอไอเอสและทรู
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. ทั้งธุรกิจโทรทัศน์ (Broadcast) และธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom) กำลังประสบความยากลำบากแตกต่างกันไป ขณะที่ กสทช.นั้น มีอำนาจจำกัดในการแก้ไขปัญหา เพราะติดเงื่อนไขทางกฎหมาย และอยู่ในช่วงสุญญากาศ จึงมีความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วย
เริ่มจากธุรกิจทีวีดิจิทัล ซึ่งหากใช้คำเปรียบเทียบแบบนายกรัฐมนตรี ก็ต้องบอกว่า ติดกระดุมผิดเม็ดตั้งแต่ต้น เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เปิดประมูลให้ใบอนุญาต 24 ช่อง นำเงินเข้ารัฐมากมายเป็นที่น่ายินดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน ธุรกิจทีวีถูกทำลายล้าง (Disrupt) ผู้ชมหันไปชมผ่านแพลตฟอร์มอื่น ขณะที่การแจกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล เพื่อขยายฐานผู้ชม ทำได้ล่าช้าไม่ทันกับพฤติกรรมผู้ชมที่หันไปหาหน้าจออื่น ถึงตอนนี้ การแจกกล่องรับสัญญานจึงแทบไม่มีประโยชน์แล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า บรรดาผู้ประกอบการก็ประมาณการผิดด้วย จากเดิมที่คิดว่าการมีช่องทีวีเป็นแหล่งรายได้ แต่จาก 6 ช่อง เพิ่มเป็น 24 ช่อง กลายเป็นมีคู่แข่งมากเกินไป ผลจึงออกมาไม่เหมือนกับที่ประเมินเอาไว้
“ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ผมไม่คิดว่าเป็นความผิดของใคร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน ผมมองว่าหนทางแก้ไขมีหมด แต่ผู้มีอำนาจไม่กล้าทำ ทำไปแล้วจะถูกกล่าวหาว่าทำประเทศชาติเสียประโยชน์ เอื้อเอกชน แต่เชื่อเถิดปล่อยไว้อย่างนี้ ไม่ถูกแน่ เพราะภาครัฐมีหน้าที่หนุนให้ภาคเอกชนแข็งแรง หากธุรกิจแข็งแรง จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบมากกว่าการเรียกเก็บเงินจากค่าประมูลแต่ธุรกิจล้มตาย”
นายสมชัยกล่าวอีกว่า หลังการประมูลทีวีดิจิทัลเสร็จสิ้นลง เอไอเอสถูกเลือกให้เป็นพันธมิตรกับทีวีหลายช่อง ด้วยการช่วยเป็นสปอนเซอร์สนับสนุน ได้เห็นความตั้งใจ มุ่งมั่น จึงรู้สึกเสียดายหากจะปล่อยให้หลายช่องที่เคยสร้างธุรกิจได้มั่นคง มั่งคั่ง ต้องมาล้มหายตายจาก ด้วยปัจจัยที่พวกเขาควบคุมไม่ได้
“ผมจึงอยากเสนอให้นายกรัฐมนตรีประกาศมาตรา 44 ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล สามารถยุติการจ่ายเงินได้ คืนใบอนุญาตได้ นอก เหนือจากการยืดการจ่ายเงิน ซึ่งดูเหมือนจะไม่เพียงพอ สำหรับเอไอเอสนับว่าโชคดีที่บริษัทแม่คือกลุ่มอินทัช พลาดการประมูลเพราะสู้ราคาไม่ไหว ทำให้โฟกัสที่การทำธุรกิจบนสื่อใหม่ได้อย่างเต็มที่”
เช่นเดียวกับธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งแข่งกันประมูลใบอนุญาตสร้างรายได้ให้รัฐเป็นจำนวนมาก แต่สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่ต้องการได้คลื่นเพื่อนำไปให้บริการจริงๆอย่างเอไอเอสและดีแทค พลาดการประมูลไป โดยใบอนุญาตตกเป็นของทรูและแจสโมบาย ซึ่งในที่สุดแจสโมบายก็ไม่สามารถนำเงินมาชำระค่าประมูลได้ เอไอเอส ต้องเข้าไปรับช่วงแทน ทุกอย่างเริ่มต้นผิดเพี้ยนไปหมด เหมือนติดกระดุมผิดเม็ดตั้งแต่ต้น ทำให้ราคาใบอนุญาตพุ่งทะลุใบละ 75,000 ล้านบาท “สิ่งที่เราจะขอก็คือ เอไอเอสและทรูผ่อนชำระค่าประมูลคลื่น 900 ไปทั้งสิ้น 3 งวดแล้ว ซึ่ง 3 งวดแรกเป็นภาระที่ไม่มากนัก ภาระหนักอยู่ที่งวดที่ 4 ซึ่งต้องจ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมดเกือบ 60,000 ล้านบาท จึงขอยืดอายุการชำระงวด 4 ออกไป เป็น 7 งวด โดยปราศจากดอกเบี้ย โดย 6 งวดแรกชำระงวดละ 8,040 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 7 ชำระทั้งหมด”
นายสมชัยแสดงความเห็นต่อกรณีสัมปทานคลื่น 850 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ของดีแทค ซึ่งกำลังจะหมดอายุลงในเดือน ก.ย. 2561 ว่า เนื่องจาก กสทช.ชุดปัจจุบันอยู่ในสถานะรักษาการ จึงน่าจะไม่สามารถจัดการประมูลขึ้นได้ ขณะที่สัมปทานดีแทคกำลังหมดอายุ ซึ่งในทางธุรกิจจะสร้างความยากลำบากให้กับดีแทคมาก จึงขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 อนุญาตให้ดีแทคเป็นเจ้าของทั้ง 2 คลื่นได้ต่อ โดยมีภาระค่าใช้จ่ายในสัดส่วนที่เท่ากันกับภาระบนคลื่น 1800 และ 900 ที่เอไอเอสและทรูประมูลได้ก่อนหน้านี้ เพื่อความเป็นธรรม เนื่องจากต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการหลักๆมี 3 รายเท่านั้น แจสโมบายก็พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถกู้เงินมาชำระค่าประมูลได้.