ผู้สื่อข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ในวันนี้ (12 ธ.ค.) กระทรวงเกษตรฯจะเสนอแพ็กเกจดูแลจัดการยางพาราให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยใช้นโยบายสนับสนุนการใช้ยางภายในประเทศ ไล่ซื้อยางและลดปริมาณยางเข้าสู่ระบบ เพื่อดัดหลังนายทุนทั้งพวกที่ทุบราคายาง และพวกที่ปลูกยางโดยการบุกรุกป่า จนทำให้การบริหารจัดการยางเกิดปัญหา โดยมาตรการที่เสนอ ครม.ครั้งนี้จะทำให้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 1.การซื้อยางพาราจากชาวสวนยาง ในราคาชี้นำตลาด เพื่อนำมาป้อนให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้ในประเทศ ตั้งเป้าใช้ในประเทศปีนี้จำนวน 200,000 ตัน จากช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ใช้ในประเทศได้เพียง 30,000 ตัน
มาตรการที่ 2 ประกาศหยุดกรีดยางทั่วประเทศจนกว่าราคายาง พาราจะดีขึ้น ทั้งในส่วนของพื้นที่สวนยางของภาครัฐ และสวนยางเกษตรกร โดยให้เงินจูงใจสำหรับชาวสวนที่เข้าร่วมโครงการ 3.ลดพื้นที่ปลูกยาง โดยเริ่มจากสวนยางของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 41,000 ไร่ ส่วนของนายทุนประมาณ 1.32 ล้านไร่ และพื้นที่สวนยางขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 8,600 ไร่ และ 4.การใช้เงินกู้ โดยรัฐสนับสนุนดอกเบี้ยแก่ภาคเอกชน เพื่อชะลอการส่งออก
อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวสวนยางที่ต้องการลดพื้นที่ปลูกและต้องการเลิกอาชีพ ตามระเบียบของ กยท. จะมีเงินจูงใจเพิ่มเติมจากเงินสงเคราะห์เดิมที่กำหนดให้ หากโค่นยางเพื่อลดพื้นที่จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 16,000 บาทต่อไร่ แต่หากเข้าร่วมโครงการเพื่อเลิกอาชีพจากชาวสวนยางเพื่อไปประกอบอาชีพอื่น นอกจากจะได้เงินสงเคราะห์ในอัตรา 16,000 บาทต่อไร่ รัฐยังมีสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพใหม่ให้ด้วย.