พาณิชย์ ดิ้นแก้ปัญหาปาล์มล้นสต๊อก-ราคาตก จ่อถกการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรมพลังงานทดแทน กระตุ้นการใช้น้ำมันปาล์มดิบ และดันส่งออก...
เมื่อ 6 ธ.ค. นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด ซึ่งมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มล้นสต๊อก ที่ปัจจุบันมีมากถึง 519,000 ตัน เบื้องต้นจะใช้มาตรการผลักดันทั้งการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบและกระตุ้นการใช้น้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศ
สำหรับในการหารือนั้น จะเชิญตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และกรมธุรกิจพลังงาน มาหารือถึงผลผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์ม และปริมาณความเหมาะสมของการใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งหากมีการนำไปใช้มากขึ้น จะส่งผลทำให้ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือในตลาดลดน้อยลง หรือดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบออกจากสต๊อก และจะช่วยทำให้ราคาผลปาล์มดิบที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้น
ส่วนการเร่งรัดการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ ขณะนี้ได้ให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ รวบรวมตลาดในการส่งออกน้ำมันปาล์มเสนอเข้ามาที่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้กำลังเสนอตลาดส่งออกน้ำมันปาล์มดิบทยอยเข้ามาอยู่
สำหรับผลผลิตปาล์มน้ำมันปี 60 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดจะมีปริมาณ 13.50 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 18.21% จากปี 59 เพราะการเพิ่มขึ้นของเนื้อที่การปลูกปาล์มและผลผลิตต่อไร่ ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนมากขึ้น และเกษตรกรดูแลดีใส่ปุ๋ยมากขึ้น ล่าสุด ณ วันที่ 4 ธ.ค.60 ราคาผลปาล์มน้ำมัน (18%) กิโลกรัม (กก.) ละ 3.20 – 3.60 บาท และน้ำมันปาล์มดิบ กก.ละ 19.00 – 19.25 บาท ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบมาเลเซีย กก.ละ 19.99 บาท
“ราคาผลปาล์มสด และน้ำมันปาล์มดิบมีแนวโน้มลดลงนับตั้งแต่ก.พ.เป็นต้นมา เป็นผลสืบเนื่องจากปริมาณผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มดิบมีมาก ประกอบกับโรงกลั่นมีสต๊อกน้ำมันปาล์มคงเหลือมากกว่าความต้องการใช้ในแต่ละเดือน รวมทั้งภาวะการค้าน้ำมันปาล์มขวดชะลอตัว ทำให้ปริมาณการสั่งน้ำมันปาล์มจากโรงงานสกัดลดลง และซื้อราคาลดต่ำลง ส่งผลถึงผลปาล์มสดด้วย”
ส่วนกระแสข่าวที่ว่ามีการนำเข้าน้ำมันถั่วเหลืองจากบราซิลและสหรัฐฯ โดยไม่เสียภาษี เพื่อนำมาสกัดน้ำมันบริโภคแข่งกับน้ำมันปาล์มนั้น ในปี 60 ไทยนำเข้าน้ำมันถั่วเหลืองเพียงเล็กน้อย ส่วนเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้ามาใช้ผลิตอาหารสัตว์และแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหลัก ซึ่งการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง ณ สิ้นเดือนก.ย.60 มีจำนวน 2.15 ล้านตัน เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันกับปี 59 ลดลง 2.17%.