เรือประมงอยากออกจากฝั่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เรือประมงอยากออกจากฝั่ง

Date Time: 5 ธ.ค. 2560 05:01 น.

Summary

  • ปัญหาประมงถึงคราวปะทุขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางลงภาคใต้ เพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) โดยระหว่างเดินพบปะกับพี่น้องชาวใต้ ตัวแทนม็อบประมง...

Latest

"75 ปี ไทยรัฐ" เคียงข้างสังคมไทย เสียงสะท้อน "ความในใจ" ผู้นำภาคเศรษฐกิจ

ปัญหาประมงถึงคราวปะทุขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางลงภาคใต้ เพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) โดยระหว่างเดินพบปะกับพี่น้องชาวใต้ ตัวแทนม็อบประมง จังหวัดปัตตานี ก็เข้ามาร้องเรียนถึงความเดือดร้อนเรื่องการทำประมง แต่กลับเจอนายกรัฐมนตรีเสียงดังใส่ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงความไม่เหมาะสมจำนวนมาก ก่อนเรื่องราวนี้จะจบลงโดยนายกรัฐมนตรีได้ออกมาขอโทษผ่านสื่อ

สำหรับประเด็นปัญหาที่ชาวประมงต้องการมาเรียกร้องกับนายกรัฐมนตรี คือเรื่องการ “ขอยืดเวลาวันออกทำการประมงเพิ่ม” โดยกลุ่มชาวประมงระบุว่า กรมประมงจำกัดเวลาทำประมงเหลือเพียง 220 กว่าวันต่อปี หรือเพียง 7-8 เดือน และเหลือเดือนที่ทำประมง 4 เดือนต่อปี ทำให้ชาวประมงขาดรายได้

โดยปัญหานี้ยังส่งผลกระทบวงกว้างต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมงต้องปิดกิจการ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนของชาวประมงที่ต้องจ่ายค่าแรงงานตลอดทั้งปี ทำให้เกิดปัญหาว่างงานในพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจภาคประมงโดยรวมของจังหวัดปัตตานี เสียหายกว่า 200,000 ล้านบาท

สาเหตุที่กรมประมงกำหนดวันทำประมงเช่นนี้ เป็นเพราะปัจจุบันสหภาพยุโรป (อียู) ยังจัดให้ไทยอยู่ในสถานะ “ใบเหลือง” ในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม หรือไอยูยู ซึ่งต้องการให้ไทยทำประมงถูกต้องตามกฎหมาย และมีการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน

ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอียูที่ต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล กรมประมงจึงออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ.2558 กำหนดให้การทำประมงในน่านน้ำไทยจะต้องมีปริมาณสัตว์น้ำเกินกว่าค่าผลผลิตสูงสุดที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน (Maxi mum Sustainable Yield หรือ MSY) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2559 โดยวันทำประมงจะคำนวณจากขนาดเรือ เครื่องมือทำประมง และใบอนุญาต

สำหรับวันออกทำการประมงใหม่ที่กรมประมงกำหนด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เรือกลุ่มที่ 1 คือ เรือที่มีใบอนุญาตถูกต้อง จะได้ทำการประมงปีละ 230 วัน (ในช่วง 2 ปี 2559-2561) เรือกลุ่มที่ 2 คือ เรือที่มีใบอนุญาตทำประมงเดิม แต่ใช้เครื่องมือที่ไม่ตรงกับใบอนุญาตแล้วได้มายื่นขออนุญาตตรงกับเครื่องมือที่ใช้อยู่ก็จะได้ทำการประมงปีละ 215 วัน และเรือกลุ่มที่ 3 คือ เรือที่เดิมไม่เคยมีใบอนุญาต แต่ได้มาขอใบอนุญาต ก็จะได้ทำการประมงปีละ 200 วัน โดยเรือทั้ง 3 กลุ่มจะต้องไปบริหารวันหยุดกันเอง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจากข้อมูลของกรมประมง มีจำนวนเรือประมงพาณิชย์ที่มีใบอนุญาตทำการประมงทั้งสิ้น 10,600 ลำ โดยกรมประมงแบ่งเรือพาณิชย์ (ยกเว้นเรือปั่นไฟ) เป็น 2 กลุ่ม รวม 8,655 ลำ ได้แก่ 1.กลุ่มเรือที่มีขนาดเล็กลงหรือใหญ่ขึ้นไม่เกิน 10% มี 7,807 ลำ แบ่งเป็น จับสัตว์น้ำหน้าดิน 5,540 ลำ ปลาผิวน้ำ 1,553 ลำ และปลากะตัก จำนวน 714 ลำ

กลุ่มที่ 2.เรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเกิน 10% จากทะเบียนมีทั้งหมด 848 ลำ แบ่งเป็น สัตว์น้ำหน้าดิน 562 ลำ ปลาผิวน้ำ 158 ลำ และปลากะตัก 128 ลำ โดยกลุ่มนี้ในปี 2560 จะถูกลดวันทำการประมง เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้ทำการประมงมีประสิทธิภาพในการทำลายสูง โดยหากต้องการทำวันประมงสูงสุดคือ สามารถทำประมงได้ตลอดปีแบบกลุ่มแรกจะต้องนำเรือไปควบรวมใบอนุญาต

สำหรับการควบรวมใบอนุญาตเป็นการควบรวมปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงที่ต้องทำในกลุ่มสัตว์น้ำเดียวกัน โดยใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ 1 ใบ สามารถกระจายปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับอนุญาตให้กับใบอนุญาตเพื่อนำไปควบรวมได้หลายใบ

สมมติมีเรือประมงเหลือวันทำประมง 60 วัน แต่ไม่ต้องการทำการประมงแล้ว ชาวประมงคนใดต้องการทำประมงเพิ่มก็สามารถซื้อใบอนุญาตทำการประมงพร้อมเรือจากเจ้าของใบอนุญาตนั้นได้ โดยกรมประมงกำหนดให้มีการรวมวันทำการประมงของกลุ่มเรือแต่ละชนิดไม่เกิน 290 วันต่อปี จากการคำนวณวันทำประมงทั้งสิ้น 360 วัน ซึ่งเรือประมงที่ใบอนุญาตถูกนำไปควบรวมแล้วต้องนำไปทำลาย หรือบริจาคทำปะการังเทียมเท่านั้น

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการควบรวมใบอนุญาตในเรือประมงพาณิชย์เป็นการแก้ไขปัญหาทางหนึ่งที่ภาครัฐหยิบยื่นให้แก่ชาวประมงที่ต้องการวันทำประมงเพื่อทำมาหากิน โดยอยู่ในกรอบการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเรื่องไอยูยูของไทยในภายภาคหน้า.

นันท์ชยา ชื่นวรสกุล


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ