(ประสาร ไตรรัตน์วรกุล)
งานสัมมนาร่าง พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจใหม่ เรื่อง การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ : คำตอบของการดูแลสมบัติชาติ ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้เน้นย้ำหลักการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใสและเพิ่มมูลค่าให้สมบัติชาติ รวมทั้งชี้แจง 4 ข้อกังวลของสังคม
โดยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจฉบับใหม่นี้ มีแนวคิดที่จะจัดระบบการกำกับดูแลหรือระบบธรรมาภิบาลให้มีความชัดเจน โดยแบ่งแยกบทบาทหน่วยงานที่กำหนดนโยบาย (Policy Maker), การกำกับดูแล (Regulator) และการดำเนินงาน (Operator) ออกจากกันอย่างชัดเจน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร แต่ไม่ใช่เพิ่มความเข้มงวด
“ที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจไทยเติบโตขึ้นมาก มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศ ปี 59 รัฐวิสาหกิจมีสินทรัพย์รวม 14.4 ล้านล้านบาท และมีรายได้รวม 4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 47 ที่มีสินทรัพย์รวม 4.7 ล้านล้านบาท มีรายได้รวม 1.5 ล้านล้านบาท ขณะที่มีงบลงทุนรวมกัน 4.8 ล้านล้านบาท เป็น 2 เท่าของงบประมาณรายจ่ายรัฐบาล และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีบทบาทและมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตกไป ประเทศไทยจะเสียโอกาสพอสมควร เพราะรัฐวิสาหกิจเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์ค่อนข้างมาก ถ้าไม่สามารถใช้ประสิทธิภาพได้เต็มที่ จะเป็นตัวฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ ขณะที่รัฐวิสาหกิจบางแห่งยังกินทุนรัฐบาล ซึ่งควรนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่นๆ หากเพิ่มประสิทธิภาพได้ จะสร้างรายได้ให้ประเทศ ลดการคอร์รัปชัน ทำให้มีต้นทุนที่ถูกลง ประชาชนได้บริการที่ดีขึ้น
ด้านนายบรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการ คนร. ชี้แจงถึงข้อกังวลของสังคมใน 4 ประเด็น ดังนี้ 1. พ.ร.บ.นี้เป็นการรวมศูนย์เพื่อกินรวบนั้นไม่จริง แต่นี้กลับมุ่งเพื่อสร้างการคานอำนาจและการตรวจสอบ กำหนดให้มีการกำกับด้วยกลไก Governance ที่เป็นสากล สร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบที่ชัดเจน 2.เป็นการลดสวัสดิการของประชาชนนั้น จริงๆจะทำให้การให้สวัสดิการประชาชน มีการแยกแยะเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้น ทำได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย สร้างความโปร่งใสทางงบประมาณและวัดประสิทธิภาพได้ 3.เพิ่มการแทรกแซงทางการเมืองนั้น กลับเป็นการลดอำนาจการเมือง เพิ่มระบบการคัดกรองที่เข้มงวดขึ้น และ 4.การนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นก็กลับตรงกันข้าม
นายบรรยงกล่าวว่า พ.ร.บ.นี้จะไม่ได้ส่งเสริมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากมีความต้องการจะแปรรูปก็จะทำให้มีขั้นตอนมากขึ้น แต่ก็จะทำให้การแปรรูปทำได้ดียิ่งขึ้น ขณะนี้มีความพยายามทำให้การแปรรูปเป็นผู้ร้าย แต่ในความเป็นจริงนั้น รัฐวิสาหกิจที่แปรรูปอยู่ในตลาดหุ้นปัจจุบัน ได้ระดมเงินทุนในตลาดไปลงทุนเพื่อขยายกิจการถึงหลักแสนล้านบาท ถ้าไม่มีตลาดทุน ไม่มีทางที่รัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะขยายการลงทุนจนเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกได้ โดยเฉพาะกลุ่ม ปตท.และเครือได้ลงทุนรวมกว่า 1.87 ล้านล้านบาท และจ่ายปันผลออกมากว่า 548,142 ล้านบาท ซึ่งกว่า 65% เป็นเงินปันผลเข้ากระทรวงการคลัง โดยปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมกันถึง 3.19 ล้านล้านบาท คิดเป็น 19% ของมูลค่าตลาดรวม ซึ่งภาครัฐไม่สามารถสนับสนุนเงินทุนได้มากขนาดนี้.