นายเอกบุตร อุดมพงศ์ วิศวกรชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยในเวทีเสวนาเรื่อง “แนวทางการจัดการซากแผงโซลาร์เซลล์ หรือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของภาคอุตสาหกรรม” ว่า กรอ.ได้จัดทำแผนแม่บทการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ : เซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เพื่อกำหนดแนวทางจัดการซากแผงโซลาร์ฯที่หมดอายุ จากปัจจุบันยังใช้วิธีทำลายแบบฝังกลบเป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากยังไม่มีทางเลือกอื่นๆ แม้การนำมารีไซเคิลจะเป็นวิธีที่ดีกว่าแต่ก็ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ล่าสุดมีเอกชนได้มายื่นขอใบประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลขยะจากโซลาร์เซลล์กับ กรอ.แล้ว ซึ่งจะเป็นโรงงานแห่งแรกในไทย ทั้งนี้ กรอ.หวังว่าในอนาคตด้วยปริมาณของเสียที่เพิ่มขึ้นก็จะจูงใจให้เกิดการลงทุน
นายเผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ทีบีซีเอสดี) กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) จำนวน 6,000 เมกะวัตต์ในปี 2579 นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานของประเทศ ขณะเดียวกันจากการประเมินการติดตั้งจะเกิดซากแผงโซลาร์เซลล์ สะสมหรือของเสียสูงถึง 750,000 ตัน หลังหมดอายุการใช้งานในอีก 25 ปีข้างหน้า ซึ่งแผงโซลาร์ฯมีทั้งส่วนที่ไม่เป็นอันตรายและส่วนที่เป็นโลหะหนัก ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมพร้อมเพื่อหาแนวทางจัดการแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่หมดอายุอย่างเหมาะสม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงขณะนี้มีภาคเอกชนไทย 1 ราย กำลังเจรจากับนักธุรกิจจากประเทศจีนเพื่อร่วมลงทุนจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลซากแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งหากมีข้อยุติในการลงทุนก็จะยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ในต้นปีหน้าและเริ่มก่อสร้างในกลางปี 61 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา.