ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เสนอร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ...มีสาระสำคัญกำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ประกอบธุรกิจรับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าเพิ่มเติมจากหลักทั่วไปตามกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าและเอาเปรียบผู้บริโภค อีกทั้งสินค้าจำนวนมากถูกผลิตโดยเทคโนโลยีขั้นสูงที่คนทั่วไปไม่ทราบความชำรุดบกพร่องได้ จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยกำหนดสิทธิ์และหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายให้ชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการพัฒนาคุณภาพสินค้า ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้เช่าซื้อมีสิทธิ์เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อเพื่อให้ได้สิทธิ์เรียกร้องต่อผู้ประกอบธุรกิจกรณีสินค้ามีความชำรุดบกพร่องและกำหนดให้สถาบันการเงินในฐานะผู้ซื้อและเจ้าของกรรมสิทธิ์โอนสิทธิ์ทั้งหลายให้แก่ผู้บริโภคเพื่อให้มีสิทธิ์เรียกร้องกับผู้ขายได้โดยตรง อีกทั้งกำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิ์ขอลดราคาหรือใช้สิทธิ์เลิกสัญญาซื้อขาย โดยให้ถือว่าเป็นการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปด้วย
“ในร่าง พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องของสินค้าได้ 2 ครั้ง หากความชำรุดบกพร่องยังอยู่ให้ผู้บริโภคบอกเลิกสัญญาขอลดราคาเรียกค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายต่างๆได้ อีกทั้ง ผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือกว่าจะซ่อมหรือเปลี่ยนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องได้ โดยระยะเวลาต้องไม่นานเกินไปและให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และกรณีที่ซ่อมแซมสินค้าแล้วแต่ไม่ทำให้สินค้าดีขึ้นสามารถบอกเลิกสัญญาหรือขอลดราคาได้ โดยต้องแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจทราบล่วงหน้า 7 วัน ขณะที่เงินที่ต้องคืนแก่ผู้บริโภคให้คำนึงถึงสภาพสินค้าที่ถูกใช้งานไปด้วย”
พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการ สคบ.กล่าวว่า สินค้าที่เข้าข่ายจะเป็นสินค้าไฮเทคที่ตรวจสอบเองไม่ได้ เช่น รถยนต์และโทรศัพท์มือถือที่ใช้แล้ว 3-6 เดือนเกิดปัญหาชำรุดบกพร่องน่าจะเข้าข่ายดังกล่าว.