อธิบดี กกจ. คนใหม่ สนองนโยบายรัฐ ไฟเขียวให้จัดซื้อ "เครื่องสแกนม่านตา" แต่ต้องไม่ผิดระเบียบราชการ ยอมรับพิสูจน์สัญชาติต่างด้าว 7.9 แสนคน ล่าช้า อาจไม่ทันเส้นตายชะลอโทษ 180 วัน เตรียมแผน 2 ให้ มท.ผ่อนผัน ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง อยู่ไทยอีก 1 ปี
เมื่อวันที่ 3 พ.ย.60 นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงการดำเนินการตามคำสั่งมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องการพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานต่างด้าว ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เนื่องจากรัฐบาลมองว่ามีแรงานต่างด้าวจำนวนมาก และยังควบคุมไม่ได้ ทำให้มีปัญหาเรื่องการสวมบัตร หนีนายจ้าง จึงจำเป็นต้องมีการพิสูจน์อัตลักษณ์ตัวตนบุคคล ทำประวัติ ถือว่าสมเหตุผลที่จะดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม กรมการจัดหางาน มีหน้าที่ช่วยเหลือเก็บข้อมูลเท่านั้น โดยกรมเจ้าท่าได้จัดส่งเครื่องสแกนม่านตาที่มีอยู่ 30 เครื่อง มาให้ยืมใช้ในการเก็บข้อมูลพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานต่างด้าว กลุ่มประมงและแปรรูปสัตว์น้ำ ใน 22 จังหวัด ที่มีพื้นที่ติดชายทะเล และ กทม. แต่ขณะนี้เครื่องชำรุด 3 เครื่อง
สำหรับการจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตานั้น ตนเพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่ง ยืนยันว่ายังไม่ได้รับการสั่งการให้ดำเนินการในเรื่องนี้ แต่ถ้ารัฐมีนโยบายให้จัดหามาใช้งาน ตนเป็นข้าราชการถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาล ก็จะเป็นการขัดคำสั่ง แต่ก็ต้องเป็นไปตามระเบียบที่สามารถทำได้ เพราะข้าราชการไม่สามารถทำอะไรตามอำเภอใจ ถ้าไม่ถูกต้องตามระเบียบก็ต้องถูกลงโทษ
ส่วนรายละเอียดเครื่องสแกนม่านตา เท่าที่รู้ กรมเจ้าท่า ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้อยู่ก่อนได้ดำเนินการมาแล้ว 3 เดือน แต่เก็บข้อมูลได้ไม่กี่พันคน ฝ่ายนโยบายซึ่งมองว่ากรมการจัดหางาน ดูแลเรื่องแรงงานต่างด้าวอยู่แล้ว จึงให้ช่วยดำเนินการแทน ซึ่งก็สามารถทำได้เร็วกว่า
โดยตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค.- 1 พ.ย. สแกนม่านตาแรงงานต่างด้าวกลุ่มประมงทะเลไปแล้ว 21,477 คน และกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำ 18 ต.ค.- 1 พ.ย.ทำไปแล้ว 3,040 คน ยังเหลือแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้อีก 7 หมื่นคนที่ต้องเก็บข้อมูลม่านตา ซึ่งนอกจากกลุ่มประมงแล้ว ต่อไปแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ 3 ล้านคน ก็ต้องถูกเก็บข้อมูลเหมือนกันทั้งหมด
เมื่อถามถึงความล่าช้าในการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว นายอนุรักษ์ กล่าวว่า การพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว 7.9 แสนคน ที่ผ่านการคัดกรองและอยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ ยังไม่มั่นใจว่าจะเสร็จทันกำหนดชะลอโทษ 180 วันหรือไม่ แต่หากดำเนินการไม่ทันจริงๆ ก็มีแผน 2 รองรับเอาไว้แล้ว
โดยจะขอให้กระทรวงมหาดไทยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง มาตรา 17 ที่ให้อำนาจ รมว.มหาดไทย ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวในกลุ่ม 7.9 แสนคน ที่ไม่สามารถทำการพิสูจน์สัญชาติได้ทันตามระยะเวลา ชะลอโทษตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างดาว พ.ศ.2560 ในวันที่ 31 ธ.ค. ให้สามารถทำงานต่อไปได้ แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าผ่อนผันไปนานเท่าไหร่ แต่ที่ผ่านมาจะอยู่ในระยะเวลา 1 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการให้สัมภาษณ์ นายอนุรักษ์ ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าชมการสาธิตการทำงานของเครื่องสแกนม่านตา ที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ตั้งอยู่บนชั้น 15 อาคารกรมการจัดหางาน โดยขั้นตอนการบันทึกข้อมูลผ่านเครื่องสแกนม่านตา การบันทึกใบหน้า จะใช้เวลาประมาณคนละ 3-5 นาที โดยคนที่จะถูกบันทึกจะถือเครื่องสแกน ที่เป็นกล่องครอบดวงตาทั้ง 2 ข้าง แล้วเบิ่งตาให้เครื่องสแกนเก็บข้อมูลดวงตาลงในคอมพิวเตอร์
พร้อมกับถ่ายภาพบันทึกใบหน้า กรอกข้อมูลประวัติ ชื่อ สัญชาติ ตามเอกสารประจำตัวแต่ละคน โดยขั้นตอนนี้จะเป็นเพียงการบันทึกข้อมูลเท่านั้น เมื่อได้แล้วจึงจะนำข้อมูลเข้าระบบ ส่งให้กรมเจ้าท่าเก็บไว้ในถังข้อมูลรวม ซึ่งเป็นเพียงการเก็บลงถังไว้เท่านั้น ยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ เพราะยังต้องมีระบบตรวจสอบดูแลรักษาข้อมูล ที่ทำเองไม่ได้ แต่ต้องให้ไมโครซอฟต์ดูแล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงแรงงาน ได้มีหนังสือชี้แจงสื่อมวลชนถึงการเสนอข่าวกรณีมีคำสั่งมาตรา 44 ย้ายอธิบดีกรมการจัดหางาน เพราะไม่สนองนโยบายรัฐบาล ในการจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตา โดยระบุว่า การพิสูจน์อัตลักษณ์เป็นแนวทางการพิสูจน์ตัวตนแรงงานต่างด้าว ควบคู่กับการจัดทำทะเบียนประวัติ ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ให้มีการลักลอบเข้ามาโดยผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ การสแกนม่านตาเป็นวิธีการหนึ่งในการพิสูจน์อัตลักษณ์ตัวบุคคล โดยกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการเบื้องต้นก่อนกับแรงงานต่างด้าวในกิจการประมง และมอบหมายให้กรมการจัดหางานดำเนินการต่อควบคู่กับการออกใบอนุญาตทำงาน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวเอง
โดยรับเครื่องสแกนม่านตาจากกรมเจ้าท่า จำนวน 30 เครื่อง เครื่องละประมาณ 100,000 บาท และถ้ามีความจำเป็นก็ให้กรมการจัดหางาน สามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมได้ สำหรับการประมวลผลและนำมาใช้ประโยชน์กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) ดำเนินการ
ด้านนายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีเครื่องสแกนม่านตา หากต้องการเพียงพิสูจน์สัญชาติก็ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องนี้ เพราะโดยหลักแล้วเป็นข้อมูลส่วนบุคคลเกินไปและเข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้ จึงต้องถามกลับว่าหากมีเครื่อง ประเทศไทยจะมีระบบการในเก็บข้อมูลให้ปลอดภัย และการนำไปใช้อย่างเหมาะสมอย่างไร เพราะจะป้องกันอย่างไรไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปใช้
ล่าสุด มีประกาศราชกิจจานุเบกษา ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาต่างด้าว โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยมาดำเนินการ ก็เป็นเรื่องดี แต่ทำไมถึงไม่ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ตั้งแต่แรก เพราะหากตั้งขึ้นมา ทางออกของปัญหาอาจจะไม่ใช่การย้ายอธิบดีกรมการจัดหางาน.