กระทรวงอุตสาหกรรม น้อมนำแนวทางพระราชดำริ “ระเบิดจากข้างใน” พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็น “หัวใจ” ในการขับเคลื่อน โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village) หรือ “หมู่บ้าน CIV” หมู่บ้านแห่งความสมดุลที่นำวิถีชีวิตมาผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับชุมชน ก่อให้เกิดมูลค่าทางการท่องเที่ยว สินค้าที่ระลึกรวมถึงบริการ และประสบการณ์ใหม่จากการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจบนแนวคิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ยุคใหม่
เพราะการสร้างรากฐานชุมชนให้แกร่งมาจาก “ข้างใน” คือหลักสำคัญในการพัฒนาชุมชนเพื่อรองรับการพัฒนา ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยมีธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนในแทบทุกมิติ ทั้งด้านสินค้าและการบริการ โดยมีแนวคิดการดำเนินงานซึ่งประกอบด้วย อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญา และแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐกับคนในชุมชน เพื่อเติมเต็มองค์ความรู้ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเป็นพัฒนาถิ่นที่อยู่อาศัยให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งทำกินของคนในพื้นที่สืบต่อไป
นอกจากนี้ยังได้น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านมาใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านที่ ”มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ตามหลัก 7 ประการ คือ 1.ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม 2.มีขนาดการผลิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการ 3.ไม่โลภไม่เห็นแก้กำไรระยะสั้น 4.มีความซื่อสัตย์ สุจริตในการประกอบการ 5.การกระจายความเสี่ยงด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย 6. บริหารความเสี่ยงต่ำ ไม่ก่อหนี้จนเกินขีดบริหาร และ7. รู้ใช้เสน่ห์ท้องถิ่นให้เป็นแรงขับเคลื่อน
ทั้งนี้ได้เดินหน้านำร่องโครงการ “หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” สร้างมูลค่าให้กับชุมชน จำนวน 9 หมู่บ้าน 9 จังหวัด ในปี 2560 ประกอบด้วย 1.ชุมชนออนใต้ จ.เชียงใหม่ 2.ชุมชนน้ำเกี๋ยน จ.น่าน 3.ชุมชนบ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย 4.ชุมชนบ้านเชียง จ.อุดรธานี 5. ชุมชนเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี 6. ชุมชนประแส จ.ระยอง 7.ชุมชนบ้านศาลาดิน จ.นครปฐม 8.ชุมชนเกาะยอ จ.สงขลา และ 9.ชุมชนบ้านนาตีน จ.กระบี่
1.สงบสุขร่มเย็น ชุมชนออนใต้ : หนึ่งในชุมชนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินงานมาเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่แห่งนี้ถึง 9 ครั้ง โดยชุมชนแห่งนี้ยังคงยังรักษาวิถีชีวิตพื้นบ้าน “บ้านจุ้ม เมืองเย็น” หมายความว่า “บ้านที่อุดมสมบูรณ์เมืองที่สงบร่มเย็น” คนในหมู่บ้านมีความผูกพันฉันท์พี่น้อง โอบอ้อมอารี มีน้ำใจให้กันและกัน ทำให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนเข้าไปเยี่ยมเยียนไม่ขาดสาย แต่เดิมที่ชุมชนแห่งนี้สืบเชื้อสายไทลื้อแคว้นสิบสองปัน ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องผลิตภัณฑ์หัตกรรมพื้นบ้าน รวมถึงการทำเครื่องสังคโลกเป็นอย่างมาก
2.วิถีบ้านน้ำเกี๋ยน ก้าวสู่ความยั่งยืน : สืบสานแนวพระราชดำริ ตามศาสตร์พระราชา 6 มิติ ที่สำคัญ คือ น้ำ ดิน เกษตร ป่า พลังงานทดแทน และ สิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับภูมิสังคม องค์ความรู้ของครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นกรอบการทำงานด้วยการสร้างระบบพัฒนาแบบความต้องการของ “คน” ในพื้นที่เป็นหลัก ตามโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขยายสู่การท่องเที่ยววิถีชุมชน แนวอนุรักษ์ให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักวิถีท้องถิ่นของจังหวัดน่าน เรียนรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรจากสวนสมุนไพรพื้นบ้านที่มีอยู่ มีบริการด้านสุขภาพด้วยการให้บริการนวดแผนไทย นวดประคบ สำหรับบริการ นักท่องเที่ยวมาพักแรมในเมืองน่าน ก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน
3. วิถีพอเพียง บ้านนาต้นจั่น : ตัวอย่างหมู่บ้านแห่งความสุขบนวิถีพอเพียงที่น้อมนำพระราชดำริมาเป็นพลัง หล่อหลอมดวงใจชาวบ้านเข้าด้วยกัน สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นของดีในหมู่บ้านจนบ้านนาต้นจั่นกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ไม่ว่าจะแหล่งท่องเที่ยวใน อ.ศรีสัขนาลัย จุดชมวิวพระอาทิตย์และทะเลหมอกอันงดงาม พร้อมทั้งสินค้า OTOP ที่โด่งดังอย่าง ผ้าหมักโคลน เครื่องถมเงิน ข้าวเปิ๊ป การนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ก่อให้เกิดการสร้างคนสร้างรายได้เข้าท้องถิ่นด้วยหลัก เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ คนในหมู่บ้านต้องเข้าใจกัน รู้รักสามัคคี เสียสละ และรู้จักความพอเพียง
4.ชุมชนบ้านเชียง อนุรักษ์โบราณวัตถุจนได้เป็นมรดกโลก : ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาที่บ้านเชียง ชาวบ้านเชียงยังไม่รู้คุณค่าของโบราณวัตถุ พวกหม้อ ไห ต่างๆ ที่มีการขุดเอาไปขายกันโดยไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีค่า เมื่อพระองค์ท่านเสด็จมาที่บ้านเชียง ได้ตรัสว่า “ต่อไปนี้คนบ้านเชียงควรจะดูแลสมบัติโบราณวัตถุไว้ อย่าให้ใครเข้ามาขโมยเข้ามาลักลอบขุดเอาไป ให้คนบ้านเชียงดูแลรักษาโบราณวัตถุสมบัติล้ำค่าเหล่านี้ไว้“ จึงได้มีการประกาศห้ามขุดโบราณวัตถุต่อจากนั้นมา รวมทั้งส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเชียงเปลี่ยนไป หันกลับมาอนุรักษ์หวงแหนสมบัติล้ำค่าไว้ และต่อมาบ้านเชียงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2535 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้น้อมนำพระราชดำริพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งการเรียนรู้มรดกบ้านเชียง สร้างรายได้ก่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจการบริการที่เชื่อมโยง กระจายรายกลับไปยังชุมชน รวมทั้งพัฒนาคนในท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท่องเที่ยว เกื้อกูลเศรษฐกิจของชุมชน
5. ชุมชนเกาะเกร็ด มนต์เสน่ห์แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา: บนพื้นที่เพียง 4 ตารางกิโลเมตร แต่เต็มไปด้วยวิถีชีวิตและภูมิปัญญา “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” เป็นแนวคิดของชุมชน ด้วยวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ การรักษาไว้ซึ่งแหล่งโบราณสถาน ความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย สืบสานวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกิดจากชุมชนที่เข้มแข็ง “เศรษฐกิจพอเพียง” ชุมชนเกาะเกร็ดน้อมนำเอาปรัชญาเป็นเครื่องชี้นำแนวทางการพัฒนาให้คนในชุมชนเข้าใจ ดำรงอยู่ได้ด้วยความสุข ชุมชนเกาะเกร็ดมีเอกลักษณ์ อาชีพท้องถิ่นเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงมากและการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงได้อย่างแท้จริง แต่ต้องมีการพัฒนาให้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ควบคู่กันไป
6. ประสานพลังเข้มแข็ง น้อมนำศาสตร์แห่งการพัฒนา ที่ ชุมชนประแส: ชุมชนบ้านปากน้ำประแส จ.ระยอง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง จากอดีตเป็นเพียงแค่แหล่งทำการเกษตรและประมงของชาวบ้าน มีพื้นที่ป่านชายเลนที่เสื่อมโทรม แต่ปัจจุบันชุมชนประแสได้รับรับความร่วมจากทางภาครัฐและน้อมนำศาสตร์แห่งการพัฒนา ร่วมมือกับชาวบ้านในพื้นที่ ปรับสมดุลให้กับผืนป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดระยองให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง พร้อมกับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ควบคู่ไปกับแหล่งศึกษาธรรมชาติไปพร้อมกันเพื่อสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในเขตชายฝั่งทะเลตะวันออก อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตชาใบขลู่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากการทำประมงหลากหลาย คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และแหล่งท่องเที่ยว โดยให้ชุมชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมตามความต้องการของชุมชนเป็นหลัก
7. ต้นแบบชุมชนจัดการน้ำ ชุมชนบ้านศาลาดิน: บ้านศาลาดินเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเกิดจากความเข้าใจของชุมชนที่เรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกันของ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันเป็นสมบัติสำคัญของชุมชนที่จะต้องร่วมผนึกกำลังบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยน้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นกรอบแนวคิดในการแก้ปัญหา จากเดิมชุมชนแห่งนี้มีปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน และคนในชุมชนส่วนใหญ่มีชีวิตที่ยากลำบาก อีกทั้งยังต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับ น้ำ ทั้งน้ำเสีย น้ำแล้ง น้ำท่วม ครั้นเมื่อพระองค์ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร ในปี 2520 จึงได้มีรับสั่งพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ จำนวน 1,009 ไร่ ให้กับชาวบ้านได้ใช้ทำกิน ต่อด้วยการสร้างความร่วมมือให้กับชุมชนแก้ปัญหาน้ำ โดยเริ่มจากความรับผิดชอบส่วนตัว สร้างถังดักไขมันและเศษอาหารก่อนปล่อยน้ำทิ้ง ต่อด้วยติดเครื่องบำบัดน้ำเสียเพื่อให้น้ำเสียกลับมาดี อีกทั้งยังพัฒนาให้ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรริมคลองมหาสวัสดิ์
8.ขุมทรัพย์กลางทะเลสาบสงขลา ชุมชนเกาะยอ: ชุมชนเกาะยอเป็นเกาะเล็กๆ อยู่ในทะเลสาบสงขลา โดยมีสะพานติณสูลานนท์เชื่อมต่อทั้ง 2 ฝั่ง คนในชุมชนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมง เกษตรกรรม และการทอผ้า เป็นหลัก ซึ่งนอกจากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติแล้ว ทุกวันนี้ชาวตำบลเกาะยอยังสามารถรักษาและใช้เสน่ห์พื้นบ้านเพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น การล่องเรือประมงนำเที่ยว ขนาดเล็กรอบเกาะยอ ชมความงามของทะเลสาบสงขลา การยกไซนั่ง / โพงพาง ให้อาหารปลากะพงขาวในกระชังเรียนรู้ชีวิตการทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นอาชีพการเลี้ยงปลาในกระชังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทำให้เกาะยอมีอาหารทะเลสดใหม่เสมอ รวมถึงผลิภัณฑ์แปรรูปที่มาจากของทะเล เช่น กะปิเคย ซึ่งเป็นกรรมวิธีการถนอมอาหารของชาวใต้ที่ควรอนุรักษ์ไว้
9.ชุมชนบ้านนาตี จ.กระบี่ เสน่ห์พื้นบ้านแบบฉบับชีวิตพอเพียง 1 ใน 8 หมู่บ้านของตำบลอ่าวนางที่ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ชุมชนแห่งนี้ยังมีบรรยากาศที่อบอุ่นของรูปแบบชีวิตพื้นบ้านที่สงบและเรียบง่ายตามแนวหลักการพัฒนาใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ท่ามกลางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของจังหวัดกระบี่ โดยยังคงรักษาเสน่ห์พื้นบ้านที่ทำให้ผู้คนที่มาเยือนเคารพและชื่นชม การท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ หาดอ่าวนาง แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติระดับโลกที่มีหาดทรายสวยงาม มัสยิดบ้านนาตีน เกาะห้อง อ่าวไร่เลย์ เส้นทางศึกษาธรรมชาติและศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรและผลิตภัณฑ์ จากสวนสับปะรด ข้าวซ้อมมือ ผลิตภัณฑ์จากกะลา มะพร้าว และผ้าบาติก นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถร่วมกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นอีกภารกิจหนึ่งของชาวบ้านนาตีน มีทั้งการฟื้นฟูป่าชายเลน ป่าชายหาด ได้อีกด้วย.