ผักสวนครัวสารพิษตกค้างอื้อ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ผักสวนครัวสารพิษตกค้างอื้อ

Date Time: 24 ต.ค. 2560 08:33 น.

Summary

  • นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรได้เฝ้าระวังสารพิษตกค้างจากแหล่งผลิตพืชทั่วประเทศ ทั้งหมด 196 ชนิดพืช รวม 4,518

Latest

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดธุรกิจค้าปลีกปี 2568 โต 3-5% หวังแรงหนุนจากท่องเที่ยวและส่งออก

นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรได้เฝ้าระวังสารพิษตกค้างจากแหล่งผลิตพืชทั่วประเทศ ทั้งหมด 196 ชนิดพืช รวม 4,518 ตัวอย่าง ในช่วงเดือน ต.ค. 59-ก.ค.60 แบ่งเป็นแปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (จีเอพี) 1,608 ตัวอย่าง, แปลงที่อยู่ระหว่างการตรวจรับรองมาตรฐานจีเอพี 2,904 ตัวอย่าง และแปลงเกษตรอินทรีย์ 6 ตัวอย่าง สรุปได้ว่า สินค้าเกษตรที่เก็บจากแปลงที่ได้มาตรฐานจีเอพี ผ่านมาตรฐานสารพิษตกค้าง (MRLs) 92.2% และแปลงที่อยู่ระหว่างการตรวจรับรองมาตรฐานจีเอพี ผ่านมาตรฐาน 93.6% ส่วนแปลงเกษตรอินทรีย์ ไม่พบสารตกค้างทั้งหมด

“กระทรวงฯมีแนวทางกำกับดูแล คือสินค้าเกษตรที่อยู่ระหว่างการขอการรับรองมาตรฐาน ที่ตรวจพบการตกค้างเกินค่ามาตรฐาน กรมฯจะไม่ออกใบรับรองแหล่งผลิตพืชให้เกษตรกรรายนั้นๆ และต้องยื่นขอการรับรองใหม่ ส่วนสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน แต่ตรวจพบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งกำหนดไว้ 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม กรมฯจะแจ้งเตือนเกษตรกรให้ปรับปรุงระบบการผลิต พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา หากแก้ไขไม่ได้ผล หรือไม่มีประสิทธิภาพ และตรวจพบปัญหาซ้ำ จะพักใช้ใบรับรองแหล่งผลิตพืช”

ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ผักและผลไม้ที่พบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน และสูงกว่าผักผลไม้อื่น ได้แก่ คะน้า พริก มะเขือเทศ ส้ม องุ่น เป็นต้น ซึ่งพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานประมาณ 7% ของตัวอย่างทั้งหมด และในผักและผลไม้บางชนิด เช่น กะเพรา โหระพา ผักชี ผักชีฝรั่ง มะม่วง ลำไย เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นพืชผักสวนครัว ไม่ค่อยเพาะปลูกในประเทศอื่นๆ จึงยังไม่มีข้อมูลการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อกำหนดมาตรฐานสารพิษตกค้างที่เหมาะสม ดังนั้น มกอช.จะร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เร่งศึกษาและหาข้อมูลที่จำเป็นสำหรับใช้กำหนดค่ามาตรฐานตามหลักสากลต่อไป

“การพบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานในกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ ไม่ได้หมายความว่า ผักผลไม้เหล่านี้ไม่สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย ผู้บริโภคไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินไป เพราะสารตกค้างนี้ จะเกิดอันตรายต่อเมื่อบริโภคในปริมาณมาก นอกจากนี้ การล้างผัก ผลไม้จะช่วยลดสารตกค้างเหล่านี้ได้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ