ย้อนปมซื้อรถเมล์ สะดุดกรรมการคุณธรรม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ย้อนปมซื้อรถเมล์ สะดุดกรรมการคุณธรรม

Date Time: 19 ต.ค. 2560 05:01 น.

Summary

  • ความพยายามที่จะดันราคากลาง การประมูลรถเมล์ NGV 489 คัน ของ ขสมก.ให้ขึ้นไปเกินกว่า 4,000 ล้านบาท ก็เพราะราคาเดิม 3.3 พันล้านบาท เป็นราคาที่ไม่สามารถจัดสรรเงินทอนกว่า 600 ล้านบาท

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ความพยายามที่จะดันราคากลาง การประมูลรถเมล์ NGV 489 คัน ของ ขสมก.ให้ขึ้นไปเกินกว่า 4,000 ล้านบาท ก็เพราะราคาเดิม 3.3 พันล้านบาท เป็นราคาที่ไม่สามารถจัดสรรเงินทอนกว่า 600 ล้านบาทให้เป็นไปตามความปรารถนาของกลุ่มคนบางกลุ่มได้ ...จริงๆกระนั้นหรือ?

ทั้งผู้บริหาร ขสมก. ไล่ไปจนถึงระดับ ก.คมนาคม พร้อมใจขานรับกันเป็นทีมโดยหาเหตุว่า ราคา 3.3 พันล้านบาท ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลรายใดให้ความสนใจ เพราะเป็นราคาที่ต่ำเกิน

ขณะที่ สุนทร ชูแก้ว ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเบสท์รินฯ ได้เปิดประเด็นย้ำว่า ขสมก. หรือใครก็ตามที่กำลังใช้ความพยายามผลักดันราคากลางจาก 3.3 พันล้านเป็น 4 พันกว่าล้าน ขอเรียนว่าราคาที่เบสท์รินฯชนะนั้นเป็นราคาที่รวมภาษีต่างๆและค่าธรรมเนียมครบถ้วนแล้ว...ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อแพงไปมากกว่านี้

ทว่านอกจากไม่มีใครฟังแล้วยังเดินหน้าออกมาฟันธงราคากลางรถเมล์ NGV รอบใหม่ 4,020 ล้านบาท เปิดประมูลกลางเดือนตุลาคม พร้อมส่งมอบลอตแรก 20 คันก่อนปีใหม่ ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า มีเอกชนรายหนึ่งนำเข้ารถบัสที่มีสเปกและสีตามที่ ขสมก.กำหนดไว้เป๊ะ 2 เที่ยวขน...เที่ยวละ 16 คัน รวม 32 คัน

คำถามสำคัญมีว่า...รถบัสปริศนาจำนวนนี้คือรถ 20 คันแรกที่ ขสมก. ตั้งใจเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนผู้เข้าร่วมประมูลรายหนึ่งจริงหรือเปล่า? เพราะในทีโออาร์ ขสมก.กำหนดส่งมอบรถโดยสารจำนวน 20 คัน ภายในระยะเวลา 40 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา ซึ่งพอมีผู้ท้วงติง ขสมก.ได้ตัดข้อความในส่วนนี้ออก แต่กลับเพิ่มเกณฑ์การพิจารณาความสามารถในการส่งมอบรถโดยสารไว้ในข้อ 6...

โดยตั้งเป็นเกณฑ์การให้คะแนนสำหรับบริษัทฯที่สามารถนำส่งมอบรถได้เร็วกว่ารายอื่น

สรุปคือ...ยังไงๆก็ต้องช่วยเอกชนรายนี้ให้ได้หรือ?

เมื่อมาถึงจุดนี้จุดที่ดื้อตาใส คงต้องย้อนอดีตไปเมื่อสมัยนางปราณี ศุกระศร นั่งรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.ที่จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายรถโดยสาร NGV 489 คัน

ท่ามกลางเสียงทักท้วงจากหลายฝ่าย แม้แต่เสียงคัดค้านจากคณะกรรมการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งขึ้นและคาดหวังมากเพื่อแก้ไขป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐนั่นก็คือ “คณะกรรมการคุณธรรม” ทำหน้าที่สังเกตการณ์โครงการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการของรัฐบาล

ในครั้งนั้น ขสมก.พยายามดันทุรังที่จะลงนามแต่ไม่สำเร็จ เนื่องเพราะมีผู้สังเกตการณ์คุณธรรม 2 ท่านประกาศลาออกไม่ขอร่วมสังฆกรรมลงนามในสัญญาจัดซื้อรถโดยสาร NGV 489 คัน

ภายหลังมีมติบอร์ด ขสมก.ให้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายกับกลุ่มกิจการร่วมค้า JVCC ที่มีบริษัท ช.ทวีดอลลาเซียนจำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะประมูลในวันที่ 17 สิงหาคม 2558...ไล่เรียงลำดับปัญหาที่เกิดขึ้น เหตุไฉน จึงไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายเกิดขึ้นนับหนึ่งจากวันที่ 2 มิถุนายน 2558 นายนพนันท์ วรรณเทพสกุล และนายอรุณ ลีธนาโชค 2 ผู้สังเกตการณ์โครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV 489 คัน ส่งรายงานไปยัง ศ.เมธี ครองแก้ว ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายมาตรการป้องกันการทุจริต (ป.ป.ช.) เพื่อเรียกเอกสารมาตรวจสอบ

4 มิถุนายน 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติยุบคณะอนุกรรมการฝ่ายมาตรการป้องกันการทุจริต คล้อยหลังไม่กี่วัน (8 มิ.ย.58) นายนพนันท์ และนายอรุณ ส่งบันทึกขอให้ระงับการลงนามสัญญาโครงการจัดซื้อฯและการจัดหาผู้ซ่อมบำรุงรักษารถต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.)

พร้อมยื่นจดหมายลาออกจากการทำหน้าที่ผู้สังเกตการณ์ ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2558

9 มิถุนายน 2558 นายนพนันท์ อดีตผู้สังเกตการณ์ ในฐานะคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ด้านการป้องกันการทุจริตรายงานในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อรับทราบปัญหา

10 มิถุนายน 2558 นายนพนันท์ทำบันทึกถึงนายมนัส แจ่มเวหา ประธานคณะอนุกรรมการการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม และ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ขณะนั้นขอให้ตรวจสอบความไม่ถูกต้องการประกวดราคา

11 มิถุนายน 2558 นายนพนันท์และนายอรุณส่งรายงานผลการสังเกตการณ์ให้นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) พร้อมแจ้งว่าลาออกแล้ว ถัดมาวันเดียวก็ได้มีการประชุมประสานงาน คตช. และรับทราบปัญหาการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี

16 มิถุนายน 2558 กรมบัญชีกลางเชิญนายนพนันท์เข้าชี้แจงในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ และในวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 สองอดีตผู้สังเกตการณ์ และ รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ประธานคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต เข้าประชุมหารือกับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของ ขสมก.

9 กรกฎาคม 2558 ขสมก.ส่งเอกสารด้านเทคนิคของผู้ชนะการประกวดราคาและประสงค์จะเสนอราคาเพื่อให้ตรวจสอบ ผ่านไปเกือบสัปดาห์...วันที่ 15 กรกฎาคม 2558 รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค จัดส่งรายงานผลการพิจารณาเอกสารด้านเทคนิคของผู้ชนะการประกวดราคาไปยังรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. พร้อมสำเนาไปยังกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการต่อต้านด้านการทุจริตแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม

24 สิงหาคม 2558 อดีตสองผู้สังเกตการณ์ทำรายงานเพื่อนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องความไม่ถูกต้องโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีและการจัดหาผู้ซ่อมบำรุง และขอให้ตรวจสอบเพื่อป้องกันความเสียหายแก่รัฐ

2 กันยายน 2558 คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) พิจารณาคำร้องอุทธรณ์ของบริษัทเบสท์ริน และในวันที่ 25 กันยายน 2558 นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่าจะให้ ขสมก.รายงานความคืบหน้าการจัดซื้อรถเมล์ลอตแรก 489 คัน ในวันที่ 28 กันยายน และจะดำเนินการซื้อรถพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้แทนก่อนจำนวน 200 คัน

อรุณ ลีธนาโชค ผู้สังเกตการณ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ผู้สังเกตการณ์คุณธรรมพบว่า ในขั้นตอนมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารระหว่างการเจรจาค่าซ่อม ซึ่งระหว่างการประชุมเจรจาค่าซ่อมตนเองและอาจารย์นพนันท์ได้แย้งไปแล้วว่าไม่น่าจะทำได้ เนื่องจากเอกสารค่าซ่อมถือเป็นเอกสารหลักที่เป็นคุณสมบัติในการเข้าประมูล ดังนั้น การเห็นเอกสารทีหลังแล้วมาแก้ไขใหม่เห็นว่าทำให้มีคุณสมบัติเรื่องเอกสารไม่ครบถ้วนและไม่ควรมีสิทธิ์ตั้งแต่ก่อนเข้าประมูล ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข้อผิดพลาดของคณะกรรมการจัดซื้อของ ขสมก.ที่จัดเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีความรู้ทางด้านเทคนิคเข้ามาทำหน้าที่ ทำให้เกิดข้อผิดพลาดตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งก่อให้เกิดความบกพร่องส่งผลให้มีผู้ได้เสียในการประมูล

ราคากลาง 4,020 ล้านบาท ที่กำลังจะประมูลครั้งล่าสุดนี้ก็เช่นกัน มีการหมกเม็ดขึ้นราคาค่าซ่อมบำรุงปีที่ 6 ถึงปีที่ 10...ส่งผลทำให้ราคากลางพรุ่งพรวดจาก 3,300 ล้านบาท แพงขึ้นมาอีก 600 ล้านบาท ซ้ำรอยเดิม

“ขสมก.ต้องทบทวน ไม่ใช่เอาแต่ดันทุรังกล่าวอ้างว่าขั้นตอนทั้งหมดถูกต้อง เพื่อปิดบังอำพรางข้อเท็จจริงบางประการไว้ จนกระทั่งทำให้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความขึ้นมาแบบซ้ำซาก ผู้บริหารระดับกระทรวงก็ต้องตรวจสอบด้วยว่า การที่เอกชนกระทำความผิดตามข้อตกลงคุณธรรม มีบทบัญญัติลงโทษอย่างไร?...มีสิทธิ์เข้าร่วมสังฆกรรมกับ ขสมก.หรือไม่?”

ย้อนอดีตทบทวนเรื่องราว เหตุฉาวๆจะได้ไม่เกิดมาหลอกหลอนซ้ำๆซากๆ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ