เตรียมใช้! บัตร อี-ทิกเก็ต พร้อมรองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับ 7 จังหวัด ด้วยเครื่องรับตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ ในระบบขนส่งมวลชนกว่า 800 คัน ส่วนบัตรคนจนเพื่อลดค่าเดินทาง แบ่งเป็นสองแบบ เพื่อช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน..
นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ และรักษาการแทนผู้อำนวยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เผยว่า ขณะนี้ บมจ.ช ทวี จำกัด ผู้ติดตั้งบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ อี-ทิกเก็ต จำนวน 2,600 คัน ระยะเวลาสัมปทานเช่า 5 ปี โดยขณะนี้ได้ติดตั้งเครื่องอ่านบัตร อี-ทิกเก็ต ในรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ไปแล้ว 200 คัน และจะทยอยติดตั้งจนครบ 800 คัน ภายในวันที่ 15 พ.ย.60 เพื่อรองรับการใช้งานบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลัง
รวมทั้ง สนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มสวัสดิการในเรื่อง การลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยตั้งเป้าจะติดตั้งให้เสร็จทั้งหมด 2,600 คันภายในเดือน มี.ค.61 จากเดิมที่มีกำหนดให้แล้วเสร็จในวันที่ 10 มิ.ย.61
สำหรับการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยมี 7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา จะได้รับบัตรสวัสดิการแบบที่มีบรรจุ 2 ชิป
ขณะที่ ชิปแรกจะใช้กับรถเมล์และรถไฟฟ้า เป็นส่วนหนึ่งของบัตรแมงมุมหรือระบบตั๋วร่วมที่กระทรวงคมนาคมกำลังพัฒนา ไว้ใช้กับระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร ส่วนชิปที่ 2 ใช้สำหรับซื้อสินค้า โดยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะใช้ผ่านเครื่องอีดีซีที่จุดให้บริการ อาทิ ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ สถานีขนส่ง บขส. และสถานีรถไฟ
อย่างไรก็ตาม บัตรสวัสดิการของคนในจังหวัดอื่นๆ จะมีชิปเดียว จึงนำมาใช้ขึ้นรถเมล์และรถไฟฟ้าไม่ได้ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนภูมิลำเนาเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มาแจ้งเปลี่ยนบัตรที่มี 2 ชิปได้ การที่ทำบัตรแตกต่างกันจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน เพราะชิป 1 ตัวมีราคา 1 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 33 บาท กรณีของผู้ที่ถือบัตรและทำบัตรหายจะต้องทำบัตรใหม่ ซึ่งบัตรที่มี 1 ชิป ต้องเสียค่าใช้จ่ายทำบัตรใหม่ 50 บาท และบัตร 2 ชิป เสียค่าใช้จ่าย 100 บาท
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แบ่งเป็น 2 แบบ
1. บัตร EMV + ตั๋วร่วม (แมงมุม) สำหรับผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนในเขต กทม. นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และ สมุทรสาคร โดยบัตรนี้ ไว้ใช้กับระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร
2. บัตร EMV สำหรับผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนในจังหวัดอื่นๆ (นอกเขต กทม. นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และ สมุทรสาคร) สำหรับบัตรนี้ จะไม่สามารถใช้กับระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร.