แบงก์ชาติแจงเดือน ส.ค.เศรษฐกิจไทยกลับมาสดใส โดยภาคส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน หลัก ยอมรับรายได้คนจนไม่ดีนัก ส่วน “บัตรสวัสดิการคนจน” ช่วยได้แค่พยุงการใช้จ่าย ขณะที่การลงทุนทั้งภาครัฐ–เอกชนยังไม่กระเตื้อง ชี้นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย ทำเงินไหลเข้ามาพักทะลักล้น
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ในเดือน ส.ค.เป็นอีกเดือนที่เศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่องค่อนข้างชัดเจน ทั้งในด้านการส่งออก นำเข้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ยกเว้นในส่วนของการลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนที่ตัวเลขยังไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้ รายได้จากภาคการส่งออกที่ดีขึ้นได้เริ่มกระจายตัว โดยผู้ประกอบการส่งออกรายกลางและรายย่อย (เอสเอ็มอี) เริ่มมียอดการส่งออกที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ในส่วนของรายได้ของผู้มีรายได้น้อยอาจจะยังไม่ดีนัก โดยมองว่าการที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะช่วยพยุงการใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อยได้ในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ ภาคเศรษฐกิจที่ทำให้ ธปท.ปรับขึ้นประมาณการเศรษฐกิจไทยจากที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้จะขยายตัว 3.5% เป็น 3.8% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ผ่านมา ปัจจัยหลักมาจากภาคการส่งออก ซึ่งปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาขยายตัวสูงถึง 15.9% และ 8 เดือนแรกขยายตัว 4.4% โดยเป็นการส่งออกที่ดีขึ้นแทบจะทุกสินค้าและทุกตลาด และส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการนำเข้าวัตถุดิบสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาผลิตเพื่อการส่งออก รวมทั้งส่งผลต่อภาคการผลิตของไทยให้ปรับตัวขึ้นด้วย โดยในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา การนำเข้าของไทยขยายตัวสูงถึง 14.3% ขณะที่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 3.7%
“การท่องเที่ยวเป็นอีกภาคหนึ่งที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และมีนักท่องเที่ยวจากแทบทุกภูมิภาคเพิ่มขึ้น โดยเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.7% มีจำนวนนักท่องเที่ยว 8 เดือนแรกจนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 23,545,000 คน แต่ในส่วนการใช้จ่ายของภาคเอกชนนั้น ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 1.9% ในเดือน ส.ค.และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเพียง 0.6% ส่วนรายได้ของเกษตรกรในเดือน ส.ค.กลับมาติดลบ 2.1% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทั้งนี้ ธปท.มองว่า การใช้จ่ายภาคเอกชนยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะฟื้นตัวได้ชัดเจน โดยคาดว่าในต้นปีหน้าการใช้จ่ายภาคเอกชนอาจจะกลับมาได้บ้าง แต่ปัจจัยถ่วงการใช้จ่ายเอกชนไม่ให้ดีขึ้นเร็วนัก ยังคงเป็นหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง”
สำหรับการลงทุนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นเครื่องชี้ที่ยังไม่ดีขึ้นมากนัก โดยในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา การใช้จ่ายในส่วนของการลงทุนภาครัฐมีการเบิกจ่ายลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในเดือน ส.ค.ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 0.7% โดยหากเทียบกับเดือนก่อนหน้าการลงทุนภาคเอกชนของไทยยังคงทรงตัว แต่ข้อดียังเป็นการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.1% ต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.32% แต่เป็นอัตราที่ต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้
“ดุลการค้าในเดือน ส.ค.ที่เกินดุลสูงถึง 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ดุลบริการที่เกินดุล 1,300 ล้านเหรียญฯ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดือนสะพัดในเดือน ส.ค.เกินดุล 4,700 ล้านเหรียญฯ และตั้งแต่ต้นปีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลแล้ว 29,900 ล้านเหรียญฯ เทียบกับปีที่ผ่านมาที่เกินดุลในช่วงเดียวกัน 34,000 ล้านเหรียญฯ ถือว่าลดลงในระดับหนึ่ง ขณะที่ในส่วนของดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ในเดือน ส.ค.ยังเป็นเงินไหลเข้า 1,280 ล้านเหรียญฯ โดยหลักๆเป็นการเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรและตราสารหนี้ของไทยของนักลงทุนต่างชาติที่สูงถึง 2,257 ล้านบาท โดยมองว่าสถานการณ์การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติจะยังเกิดขึ้นต่อไปอีก”
ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เท่าที่เห็นตัวเลขเบื้องต้นในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือน ก.ย.พบว่ามีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้แล้ว เป็นจำนวนที่สูงกว่าตัวเลขทั้งเดือนของเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และยังเห็นการเข้ามาของเงินต่างชาติในตลาดหุ้นด้วย ดังนั้น ภาพรวมในเดือน ก.ย.จึงน่าจะเป็นการไหลเข้าของเงินทุนต่อเนื่อง แม้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงบ้างช่วงนี้ จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้น โดยเหตุผลส่วนหนึ่งของการไหลเข้าของเงินทุนมาจากนักลงทุนต่างชาติที่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยมากขึ้น.