ซื้อสินค้าจำเป็น-จ่ายค่าเดินทาง
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางขอให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วประเทศจำนวน 11.67 ล้านคน มาติดต่อขอรับบัตรได้ที่หน่วยรับลงทะเบียนที่ได้ลงทะเบียนไว้โดยเร็วที่สุด เพราะบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี้จะเริ่มมีผลใช้งานได้ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่จนถึงขณะนี้ยังมีผู้มารับบัตรดังกล่าวน้อยมาก
ส่วนผู้มีสิทธ์ิได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร จำนวน 1.3 ล้านคน ซึ่งจะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแบบที่มีบรรจุ 2 ชิป โดยจะมีชิปที่จะใช้กับรถเมล์และรถไฟฟ้าหรือบัตรแมงมุมด้วยนั้นให้มารับได้ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. เป็นต้นไป โดยในส่วนนี้ กรมบัญชีกลางจะยกยอดวงเงินแต่ละประเภทสวัสดิการที่คงเหลือจากการใช้จ่ายในเดือน ต.ค.ให้ไปใช้ต่อในเดือน พ.ย. เพื่อชดเชยเวลาให้ผู้มีสิทธิ์สามารถใช้วงเงินคงเหลือดังกล่าวได้
อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป ผู้ถือบัตรสามารถใช้สิทธิ์ตามวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานหรือร้านค้าที่กำหนด สำหรับการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประกอบด้วย 1.ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยให้วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยผู้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้วงเงินคนละ 200 บาทต่อเดือน และผู้ที่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้วงเงินคนละ 300 บาทต่อเดือน รวมทั้งจัดให้วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน 2. ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยจะให้วงเงินค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก.และรถไฟฟ้า 500 บาทต่อเดือน รถโดยสาร บขส. 500 บาทต่อเดือน และค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อเดือน
“วงเงินที่รัฐบาลช่วยเหลือในการลดค่าใช้จ่าย จะแยกเป็นวงๆไป จึงเอาวงเงินของแต่ละส่วนมารวมกันไม่ได้ ถ้าใช้เต็มวงเงินแล้วในเดือนนั้นก็จะใช้ไม่ได้อีกหรือถ้าใช้ไม่เต็มวงเงินก็จะนำไปสมทบกับเดือนต่อไปไม่ได้ และเมื่อขึ้นวันที่ 1 ของเดือนใหม่ก็จะมีวงเงินเพิ่มขึ้นมาใหม่เป็นเดือนๆไป”
ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี้จะทำให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐถูกกลุ่มเป้าหมายและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยรัฐมีข้อมูลติดตามประเมินผลการให้สวัสดิการในแต่ละประเภท และนำมาปรับปรุงการให้สวัสดิการให้เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งสามารถกำกับติดตามค่าใช้จ่ายสวัสดิการต่างๆได้อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนในการใช้จ่ายชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินสดไปสู่ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี้
โดยภายใต้โครงการประชารัฐสวัสดิการนี้จะต้องใช้เงินเดือนละ 3,495 ล้านบาท หรือปีละ 41,940 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งกองทุนประชารัฐขึ้นมา และสำนักงบประมาณจัดสรรงบให้แล้ว 46,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับระบบเดิมที่รัฐเคยให้ความช่วยเหลือ รถเมล์ฟรีลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ปีละ 1,500 ล้านบาท ส่วนรถไฟฟรี ลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ปีละ 156 ล้านบาท.