กรมการค้าภายใน ประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน “รูปพนมมือ” สร้างความเชื่อมั่นซื้อข้าวหอมมะลิบรรจุถุง เผย ล่าสุดมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายแล้ว 142 ราย จำนวน 216 เครื่องหมายการค้า และมีผู้ได้รับอนุญาตมาตรฐานดีพิเศษ 2 ราย 6 เครื่องหมายการค้า ย้ำหากพบรายใด ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษตั้งแต่ตักเตือน พัก และเพิกถอนการใช้เครื่องหมายทันที
น.ส.สุทัศนีย์ ราชเรืองระบิน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์การรับรองมาตรฐานข้าวหอมมะลิบรรจุถุง โดยให้เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน “รูปพนมมือ” เพื่อสร้างการรับรู้ถึงความหมายและความสำคัญของเครื่องหมายรับรองมาตรฐานให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อข้าวหอมมะลิบรรจุถุง ที่ได้เครื่องหมายรับรองดังกล่าวว่าจะได้ข้าวหอมมะลิที่มีมาตรฐานเดียวกับการส่งออก
ทั้งนี้ ในปัจจุบันกรมฯ ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานรูปพนมมือแล้วทั่วประเทศ 142 ราย ภายใต้เครื่องหมายการค้า 216 เครื่องหมายการค้า โดยในจำนวนนี้ มีผู้ได้รับอนุญาตประเภทมาตรฐานดีพิเศษ 2 ราย จำนวน 6 เครื่องหมายการค้า
“ในการเลือกซื้อข้าวหอมมะลิบรรจุถุงไปบริโภค หากข้างถุงมีเครื่องหมายรับรอง “รูปพนมมือ” ของกรมฯ แสดงไว้บนบรรจุภัณฑ์ ก็มั่นใจได้ว่า ข้าวหอมมะลิมีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด สามารถเลือกซื้อไปบริโภคได้อย่างมั่นใจ” น.ส.ทัศนีย์ กล่าว
สำหรับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน “รูปพนมมือ” คือ เครื่องหมายที่กรมฯได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการข้าวหอมมะลิบรรจุถุงใช้แสดงบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อรับรองว่ามีคุณภาพได้ตามมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ โดยเครื่องหมายรับรองฯ มี 2 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภททั่วไป ซึ่งมีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน และ 2.ประเภทมาตรฐานดีพิเศษ ซึ่งนอกจากมีคุณภาพได้มาตรฐานแล้ว ยังต้องผ่านกระบวนการผลิตที่มีระบบมาตรฐานสุขอนามัย ได้แก่ GMP HACCP หรือ ISO ด้วย
นอกจากนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อข้าวหอมมะลิบรรจุถุงรูปพนมมือ กรมฯ ได้กำกับดูแลคุณภาพข้าวหอมมะลิบรรจุถุงรูปพนมมืออย่างเข้มงวด โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างข้าวที่วางจำหน่ายในท้องตลาดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมาตรวจสอบคุณภาพเป็นประจำทุกเดือน สับเปลี่ยนหมุนเวียนทุกเครื่องหมายการค้า ที่ได้เครื่องหมายรับรองฯ หากตรวจพบว่า เครื่องหมายการค้าใด คุณภาพไม่ได้ตามมาตรฐาน จะลงโทษตามลำดับ โดยขั้นแรก มีหนังสือเตือน กรณีตรวจพบไม่ได้มาตรฐานครั้งแรก, พักใช้หนังสืออนุญาตเป็นเวลา 3 เดือน กรณีตรวจพบไม่ได้มาตรฐาน 2 ครั้งภายในรอบ 1 ปีการตรวจสอบ และต้องนำข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานออกจากตลาดภายใน 15 วัน รวมถึงเพิกถอนหนังสืออนุญาต กรณีตรวจพบไม่ได้มาตรฐาน 3 ครั้ง ภายในรอบ 2 ปีการตรวจสอบ .