ความพยายามของรัฐในการวางกรอบการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวง ทบวงต่างๆเพื่อ “ตีกัน” ไม่ให้นักการเมือง–กลุ่มทุนทางการเมืองเข้าไป “ล้วงลูก”
แสวงประโยชน์เข้าพกเข้าห่อหรือส่งคนเข้ามา “กุมบังเหียน” ในบอร์ดและฝ่ายบริหารรัฐวิสาหกิจในลักษณะ “ต่างตอบแทน” นั้น ดูจะเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญยิ่งกว่าการ “เข็นครกขึ้นเขา”!!!
ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และกระทรวงการคลัง ผลักดัน “ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .....” ด้วยคาดหวังจะให้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจในภาพรวม ทั้งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ปราศจากการครอบงำและแทรกแซงจากการเมือง
ขณะนี้อยู่ในช่วง “โค้งสุดท้าย” ของการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)!
แต่ก็ไม่วายถูกเครือข่าย NGO โดยเฉพาะ “ขุ่นแม่เอ็นจีโอ” ที่ออกโรงถล่มร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งมีหลักการจะนำเอาหุ้น 11 รัฐวิสาหกิจทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และที่คลังถือหุ้นอยู่ 100% มูลค่ากว่า 6 ล้านล้านบาทมาจัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” หรือ “ซูเปอร์ โฮลดิ้ง”
โดยระบุว่าเป็นการ “ซ่อนเงื่อนแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” เปิดทางให้มีการขายสมบัติชาติออกไปโดยประชาชนคนไทยไม่มีโอกาสล่วงรู้ พร้อมทิ้งวลีเด็ด “หนักกว่ายุคแม้ว” ที่ทำเอารัฐและกระทรวงการคลัง “นั่งไม่ติด” ผู้คนในสังคมต่างก็สับสนจนเริ่มตั้งคำถาม สิ่งที่ “ขุ่นแม่เอ็นจีโอ” ตีปี๊บอยู่นั้นเป็นเรื่องจริงหรือ “มโน” ไปเอง!!!
“ทีมเศรษฐกิจ” ได้แสวงหาข้อเท็จจริงจาก “เอกนิติ นิติฑัณฑ์ประภาศ” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ต่อประเด็นดังกล่าวอย่างหมดเปลือกดังนี้ :
********
“กฎหมายฉบับนี้ สคร.เริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2557 ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากรัฐบาลได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)” หรือ “ซุปเปอร์บอร์ด” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างใหม่ที่ปัจจุบันก็มีอยู่แล้ว” ปรารภแรกของ “เอกนิติ นิติฑัณฑ์ประภาศ” ผู้อำนวยการ สคร. ต่อที่มาที่ไปของร่างกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจฯฉบับนี้
ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะกิจการหรือบริการของรัฐวิสาหกิจเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก เช่น รถเมล์ ขสมก. กิจการไฟฟ้า ประปา ระบบการขนส่งทางบก เรือ และอากาศก็คือภาพที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้จะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ต้องฟังเสียงบ่น ก่นด่าจากประชาชนอีก
นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่งที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ มีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่แต่ละปีมีไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ให้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
“จะเห็นได้ว่า ในที่ประชุม คนร.ทุกครั้ง นายกฯในฐานะประธานที่ประชุมจะให้ความสำคัญกับเรื่องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างมาก จึงได้แต่งตั้ง นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธานคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาเรื่องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจโดยตรง”
“ในช่วงเริ่มต้นศึกษานั้น มีการศึกษารูปแบบและตัวอย่างจากต่างประเทศมาเป็นกรณีศึกษาด้วย แต่ก็ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่งของไทยมีลักษณะที่แตกต่างกันมาก ที่สำคัญแต่ละแห่งมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งหรือ “กฎหมายแม่” ที่ใช้ในการกำกับกิจการทำให้ยากแก่การดูแล หรือยากที่จะนำมารวมกัน”
เหตุนี้คณะอนุกรรมการฯจึงมีแนวคิดในการนำ “ธรรมาภิบาล” หรือ “Good Governance” ซึ่งหมายถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดีมากำกับดูแลรัฐวิสาหกิจเพื่อลดปัญหาที่เป็นจุดอ่อนสำคัญ 2 ประการ คือ
1.การทำงานโดยไม่ประสานกัน เช่น การไฟฟ้านครหลวงขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย จะเอาสายไฟฟ้าลงดินแต่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บอกว่าทำไม่ได้ เพราะมีสายเคเบิลอยู่ใต้ดิน เป็นต้น
และ 2.การทำงานมีความทับซ้อน ซึ่งประเด็นนี้คือปัญหาระดับชาติที่ต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากภารกิจของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันมีหลายบทบาทจนมั่วไปหมด ไม่รู้ว่าตัวตนที่แท้จริงคืออะไร อาทิ
1.การรับนโยบายจากนักการเมือง (Policy Maker)
2.การรับนโยบายจากผู้ถือหุ้น (Shane Holder)
3.การรับนโยบายจากผู้กำกับดูแล (Regulator)
และ 4.การปฏิบัติการ/ให้บริการ (Operator)
ทั้ง 4 บทบาทข้างต้น รัฐวิสาหกิจจะไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะเท่ากับขัดคำสั่งนโยบายรัฐบาล อย่างเช่น ขสมก. ที่มีฐานะเป็น Operator แต่ก็เปิดสัมปทานเดินรถเมล์ให้เอกชน จึงทำให้เป็นทั้ง Operator และ Regulator เวลาเดียวกัน และยิ่งทำให้เห็นภาพ “ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน” การบริหารงานก็ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้ดึงสัมปทานรถเมล์ไปให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการแทนแล้ว
“ที่ผ่านมากระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นเคยเตือนไปแล้วว่าอย่าทำนะ แต่รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ไม่เคยเชื่อฟัง จะมาฟังก็ตอนเจ๊งแล้วเพราะต้องการขอเงินเพิ่มทุน ถือเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากที่สุดคือไม่ฟังผู้ถือหุ้นแต่ชอบฟังกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็ชอบฟังประธานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็คือนักการเมือง หรือตัวแทนของนักการเมืองนั่นเอง”
เมื่อเรารับทราบข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมีการกำหนดข้อปฏิบัติซึ่งมีทั้งหมด 6 ข้อใส่ลงไปใน “ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ...” เพื่อให้ปัญหาทั้งหมดถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ประกอบด้วย 1.การจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติซึ่งก็คือ คนร. หรือ “ซุปเปอร์บอร์ด” ที่จะประสานงานกับทุกรัฐวิสาหกิจ โดยมีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน และมีกรรมการตัวแทนจากภาคราชการ เช่น เลขาธิการสภาพัฒน์ ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน เพื่อให้การออกคำสั่งของ คนร.มีผลผูกมัดไปจนถึงรัฐบาลถัดๆไป
2.มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง จากปัจจุบันที่แผนซึ่งมีอยู่แล้ว แต่ไม่เคยถูกนำออกมาใช้เลย แต่กฎหมายใหม่นี้จะระบุอย่างชัดเจนว่า รัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องนำแผนยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติ เพื่อให้การลงทุนและการพัฒนารัฐวิสาหกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยแผนดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งผลที่จะได้รับในอนาคตคือ ประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้น
3.การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสซึ่งต้องนำ “ธรรมาภิบาล” มาปฏิบัติ เช่น โครงการรับจำนำข้าวในอดีตที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล แต่กฎหมายฉบับนี้จะสั่งให้รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด
4.กระบวนการกลั่นกรองเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง เป็นใครก็ได้ หากได้รัฐมนตรีดีก็เชื่อว่าจะได้คนดีเข้ามานั่งทำงาน จึงมีการเสนอให้มี “คณะกรรม การกลั่นกรอง” เป็นผู้พิจารณาบุคคลที่เหมาะสมและมีความเชี่ยวชาญในตำแหน่งกรรมการ “วิธีการนี้ก็คือการนำกระ– บวนการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาใช้ในการสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจนั่นเอง”
5.การตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” หรือ “ซูเปอร์ โฮลดิ้ง” ซึ่งกำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักในขณะนี้ สคร.ขอชี้แจงว่าเป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของ พ.ร.บ.การพัฒนารัฐวิสาหกิจเท่านั้น โดย “ซุปเปอร์บอร์ด” หรือ คนร.จะยังคงเป็นผู้กำหนดเป้าหมาย วางนโยบาย และทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจเหมือนเดิมทุกประการ
แต่ภายใต้แผนดังกล่าวได้แบ่งการบริหารงานรัฐวิสาหกิจออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกนั้น สคร.จะทำหน้าที่ในการกำกับดูแลเหมือนเดิมแต่ได้ลดจำนวนลงเหลือ 45 แห่ง เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปา นครหลวง ขสมก.เป็นต้น (รัฐวิสาหกิจที่มี พ.ร.บ.จัดตั้ง)
และส่วนที่สองคือ “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” จะมีรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 11 แห่งโอนมาอยู่ในบรรษัทฯ ประกอบด้วย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ขนส่ง จำกัด, บริษัทท่า อากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพว.), บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด, สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด, บริษัท อสมท จำกัด และบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด
โดยรัฐวิสาหกิจทั้ง 11 แห่งจะไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.จัดตั้งอีกต่อไป แต่จะอยู่ภายใต้กฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ ส่วนรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็มี พ.ร.บ.มหาชน กำกับดูแลอยู่แล้ว
และหลักการสุดท้ายข้อ 6.คือการวัดผลการทำงานของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปัจจุบันรัฐวิสาหกิจ ทั้ง 56 แห่งมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันมากกว่า 15 ล้านล้านบาท และในจำนวน 11 รัฐวิสาหกิจมีมูลค่าหุ้นรวมกันมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ดังนั้น หากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่รัฐวิสาหกิจได้ ก็น่าจะหมายถึงการบริการที่ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ได้มุ่งหวังที่จะให้รัฐวิสาหกิจแสวงหาแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ผู้อำนวยการ สคร.ยังตอกย้ำด้วยว่ากฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เหมือน พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจปี 2542 ที่มีการระบุกระบวนการ ขั้นตอนการแปรูปการกระจายหุ้นและตีราคาสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจเอาไว้อย่างชัดเจน
แต่ พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฉบับนี้ คือกฎหมายที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้แก่รัฐวิสาหกิจเพื่อให้บริการประชาชนคนไทย “ทำไม สคร.ถึงคิดเช่นนั้น เพราะได้วางกฎเหล็กล็อกแปรรูปรัฐวิสาหกิจเอาไว้ถึง 3 ชั้น ประกอบด้วย 1.รัฐวิสาหกิจทั้ง 45 แห่งยังคงมี พ.ร.บ.จัดตั้งเหมือนเดิมไม่มีใครไปแตะต้องหรือแก้ไขใดๆทั้งสิ้น 2.หุ้นของรัฐวิสาหกิจทั้ง 11 แห่งที่โอนมาอยู่ในบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติจะไม่มีการขาย หรือเปลี่ยนมือ 100%
นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจทั้ง 11 แห่ง จะยังคงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนเดิมทุกประการ!!!
ส่วนประเด็นที่ สคร.ถูกโจมตีว่า “แปรรูปซ่อนเงื่อน” ก็ไม่เป็นความจริง เพราะโดยกฎหมายปัจจุบันนั้น รัฐบาลสามารถลดสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจได้ง่าย เพียงนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เช่นลดการถือหุ้นของคลังในบริษัท ปตท.ต่ำกว่า 51% หรือหุ้นใน อสมท ต่ำกว่า 70% ก็สามารถดำเนินการได้ทันที
แต่หาก พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฉบับใหม่มีผลใช้บังคับจะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป การจะลดหรือเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในรัฐวิสาหกิจต้องได้รับความเห็นชอบจาก คนร.จึงเป็นที่มาของการ “ล็อก 3 ชั้น” ที่ห้ามแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างเด็ดขาด! “เราชี้แจงยืนยันหนักแน่นในประเด็นนี้ ก็มากล่าวหาว่า คนร.มีอำนาจล้นฟ้าอีก!”
“ขอยืนยันว่า หลักการและเหตุผลของกฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจเป็นสำคัญ โดยได้นำปัญหาของรัฐวิสาหกิจที่สมควรจะแก้ไขมาปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อบริการพี่น้องประชาชนคนไทย ไม่ใช่ปล่อยให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูกและสร้างความเสียหายโดยไม่มีความรับผิดชอบ ขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 2 และคาดว่าจะผ่านและมีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้”
เป็นคำตอบอัน “หนักแน่น” ของผู้อำนวยการ สคร.ที่ทิ้งท้ายกับเราผ่านไปยังประชาชนคนไทยที่กำลังสับสนข้อมูลกันอยู่เวลานี้!!!
นายสังวรณ์ พุ่มเทียน
ประธานสหภาพแรงงาน รสก.
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
“...สาเหตุที่ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การพัฒนารัฐวิสาหกิจฯนั้นเนื่องจากสหภาพฯเห็นว่าไม่มีความชัดเจนในแนวทางปฏิรูปรัฐ วิสาหกิจแต่อย่างใด มีแต่เรื่องทุน การแปลงทรัพย์สินเป็นหุ้น ไม่ได้อธิบายถึงสิ่งที่ประชาชนจะได้รับจากการให้บริการของรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด
สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำเป็นการเร่งรีบที่จะแปลงทรัพย์สินรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้น เป็นทุนแต่ไม่ได้พูดถึงประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับทั้งๆที่รัฐธรรมนูญและรัฐบาลประกาศนโยบายต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดังนั้นการจะนำทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นทรัพย์สินของหลวงไปแปลงเป็นหุ้นประชาชนก็ควรต้องมีส่วนร่วมด้วย
นอกจากนี้ ยังให้อำนาจคณะกรรมการกำกับรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกฯเป็นประธานมากเกินไป และมติ คนร.ก็ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายกฯเป็นประธานอีก มันมีลักษณะ “ชงเอง กินเอง” ไม่น่าถูกต้องตามหลักการของ การบริหารที่มีคุณธรรม จริยธรรม
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจนั้นมีหลายวิธีที่จะดำเนินการ อาทิ การปรับปรุงกฎระเบียบให้รัฐวิสาหกิจคล่องตัวก็สามารถแข่งขันกับเอกชนได้ แต่กฎหมายของกระทรวงการคลังก็ห้ามรัฐ วิสาหกิจไปแข่งขันกับเอกชนอีก ขณะที่เอกชนทำธุรกิจก็ต้องมีกำไร ต้องคิดค่าบริการแพงทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน หากมีรัฐวิสาหกิจแข่งขันอย่างน้อยก็สามารถถ่วงดุลไม่ให้ค่าบริการแพงเกินไป โดย เฉพาะค่าบริการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน
ในส่วนของรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมที่รัฐบาลจะแยกทรัพย์สินของแคทและบริษัท ทีโอที มาจัดตั้งบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติหรือ NBN และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ตหรือ NGDC นั้น
เป็นการทำให้ทีโอทีและแคทอ่อนแอและในที่สุดก็จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาถือหุ้น ซึ่งหากเอกชนเข้ามาก็ต้องทำธุรกิจให้มีกำไรกระทบประชาชนอีก หนทางที่รัฐบาลจะให้ประชนเข้าถึงค่าบริการราคาถูกจะไม่สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกับเน็ตประชารัฐที่รัฐบาลไม่สามารถกำหนดราคาและควบคุมค่าบริการได้ในเวลานี้.....”.
ทีมเศรษฐกิจ