“สมคิด” สั่งคลังหามาตรการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา หวังจูงใจเอกชน–ประชาชนร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นำเงินไปช่วยคนไทยที่ยากจน พร้อมให้ สศช.ขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ภาคธุรกิจ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในธุรกิจเอกชน” ว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณามาตรการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลให้กับบริษัทเอกชน และมาตรการลด หย่อนภาษีบุคคลธรรมดาให้กับประชาชน ที่ร่วมกันบริจาคเงินเข้าสู่กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยอาจจะให้หักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่าของเงินบริจาค หรือหักลดหย่อนเท่าไหร่ก็ให้กำหนดมาให้ชัดเจนเพื่อให้ใช้ได้ทันปีภาษีหน้า จะได้ให้ภาคส่วนต่างๆมาร่วมกันบริจาคเงินเข้ากองทุนนี้
“การดำเนินการแบบนี้ไม่ได้ทำเพราะรัฐบาลถังแตก หรือไม่มีงบประมาณ เรามีงบประมาณดูแลในส่วนนี้อยู่แล้ว แต่อยากให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ อย่างภาคเอกชนและองค์กรต่างๆที่มีงบประมาณกิจการเพื่อสังคม หรือซีเอสอาร์ อยู่จำนวนมาก จึงอยากให้เอามาใช้ในการช่วยเหลือคนผู้มีรายได้น้อยด้วย ซึ่งจะดีกว่าการใช้งบแบบสะเปะสะปะ”
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นรัฐบาลมีมติตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากขึ้นมา กำหนดวงเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 สำนักงบประมาณจัดสรรเงินให้แล้ว 46,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการประชารัฐสวัสดิการที่ให้ความช่วยเหลือคนจน รายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปีที่มาลงทะเบียนกับรัฐ และได้รับสิทธิ์ 11.67 ล้านคน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งภายใต้มาตรการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป คาดว่าจะใช้เงิน 41,940 ล้านบาท แต่รัฐบาลยังมีแผนที่จะใช้เงินในกองทุนนี้ช่วยเหลือคนจนเพิ่มอีก โดยเฉพาะการฝึกอบรมคน หรือลูกหลานของประชาชนที่อยู่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปีให้มีโอกาสหารายได้ในการดำรงชีวิตมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ได้ขอให้ สศช.ไปขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจเอกชนให้เข้มข้นมากขึ้น โดยขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกกิจกรรม เพราะการน้อมนำหลักปรัชญาดังกล่าวมาใช้นั้น ที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า เป็นการดูแลเฉพาะภาคเกษตรเท่านั้น แต่แท้ที่จริงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในกิจกรรมอื่นๆ เช่น การพัฒนาคน หรือการพัฒนาองค์กรได้ โดยในส่วนของภาคเอกชนเองก็สามารถนำประยุกต์ใช้ผ่านการวางแผนการทำงานในอนาคต โดยเฉพาะตอนนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่เอกชนจะต้องหาทางขยับขยายการลงทุนเพิ่มเติม ด้วยการเปลี่ยนยุทธวิธีจากการตั้งรับ เป็นการรุก แต่ทั้งหมดก็ต้องอยู่บนความพอดีและพอประมาณ
ด้าน น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ส.ค.2560 ว่า เท่ากับ 100.64 สูงขึ้น 0.32% เทียบกับเดือน ส.ค.2559 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2560 สูงขึ้นแล้ว 0.56% สำหรับสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเป็นหลัก โดยสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และยังมีการเพิ่มขึ้นของค่ากระแสไฟฟ้า เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสำเร็จรูป อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้านด้วย
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ สนค.คาดว่าจะยังคงเป็นช่วงขาขึ้น เพราะช่วงปลายปีมีช่วงเปิดเทอมภาคที่ 2 ซึ่งจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นปกติของทุกปี โดยขณะนี้ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีขยายตัวอยู่ที่ 0.7-1.7% เช่นเดิม.