หลังจากที่ ขสมก. ต้องแบกหนี้สินกว่า 1 แสนล้านบาท จึงเตรียมหาแนวทางลดต้นทุนด้านบุคลากร โดยปัจจุบัน ขสมก.มีบุคลากรทั้งสิ้น 12,900 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งมีสัดส่วนพนักงานทั้งหมด 4.8 คน/คัน ถือว่าสูงมากต้องลดให้เหลือ 2.4 คน/ คัน ซึ่งตามแผนฟื้นฟูตั้งเป้าหมายที่จะลดพนักงานของ ขสมก.รวม 2,000 คนในปี 62 โดยเตรียมเสนอขอจัดสรรงบ ประมาณปี 61 รวม 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ เฉลี่ยคนละ 1 ล้านบาท
นายยุกต์ จารุภูมิ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องการลดพนักงานต้องดูการปรับโครงสร้างประกอบด้วย โดยการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินการได้นำเทคโนโลยีมาใช้แทนคน เพื่อลดค่าใช้จ่ายบุคลากร ซึ่งตอนนี้อยู่ในอัตราที่สูงมากถึง 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
โดยพนักงานขสมก.ทุกตำแหน่งที่จะเข้าโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ คาดการณ์ไว้ 2,000 คน ซึ่งอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ เพราะโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ ไม่มีการบังคับแล้วแต่ความสมัครใจของพนักงาน
ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีพนักงานเกษียณอายุตามปกติ แต่ละปีประมาณ 400-500 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตำแหน่งพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งอยู่กับองค์กรมานานและเกษียณไปตามอายุ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ขององค์การค่อนข้างมีอายุเยอะแล้ว บางส่วนก็มีความประสงค์ที่จะได้รับเงินก้อนนี้ไปประกอบอาชีพอื่น
“ถามว่าลดพนักงานลง ที่เหลือจะเหนื่อยหรืองานหนักมากขึ้นไหม ผมว่าก็ไม่นะ เพราะคนในส่วนของออฟฟิศมีเยอะ เนื่องจากว่าเมื่อก่อนนี้ ขสมก.มีรถ 4-5 พันคัน แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 2,600 คัน ขณะที่มีพนักงานอยู่เท่าเดิม ซึ่งจริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องมีเยอะขนาดนี้ มันไม่ลดตามสัดส่วนของรถที่หายไป ทำให้ ขสมก.มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เยอะไม่สอดคล้องกับงาน ซึ่งคนที่เกินมาจะพิจารณาว่าจะเอาไปทำอะไรต่อ หรือจะเข้าโครงการเออร์ลี่ รีไทร์หรือไม่” รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ขสมก. อธิบาย
เมื่อถามว่า ปัจจุบันนี้ พนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร เพียงพอต่อให้บริการประชาชนหรือไม่? นายยุกต์ ตอบว่า ไม่เพียงพอ แต่ที่ผ่านมาให้บริการได้อย่างไรนั้น คือ จะมีการเปลี่ยนผลัด 2 ผลัด โดยตอนเช้าออกไป 100% คนต้องรีบไปทำงาน ขณะที่ ช่วงบ่ายพนักงานไม่เพียงพอ ไม่มีพนักงานมาเปลี่ยน ซึ่งจะเห็นได้ว่าช่วงเย็นพนักงานจะขาดรถจะน้อย ประชาชนจะรอนานกว่าช่วงเช้า
ทำให้อัตราส่วนนี้ต้องหามาเพิ่ม และพยายามที่จะสับเปลี่ยนให้พนักงานเก็บค่าโดยสารไปฝึกอบรมเพื่อให้มาเป็นพนักงานขับรถมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน ส่วนพนักงานเก็บค่าโดยสารนั้นจะใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน
นายยุกต์ กล่าวว่า ตอนนี้ทางบริษัทที่ชนะการประมูลกำลังลงระบบอยู่ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ จะรองรับบัตรสวัสดิการได้ แต่แผนให้เสร็จ 100% ทุกคันจะเสร็จประมาณกลางเดือนมี.ค. 61
ทั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องมีพนักงานเก็บค่าโดยสารคอยดูแลและให้บริการประชาชน โดยวางแผนไว้ 2 ปีที่จะสร้างความรับรู้แก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งในช่วงเวลานี้จะค่อยๆ ทยอยถอดพนักงานเก็บค่าโดยสารออกไปเรื่อยๆ ในบางสายรถเมล์ที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีแล้ว
“ดังนั้น ผมมองว่า การลดบุคลากรของ ขสมก.ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน เนื่องจากจะนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนกำลังคน ส่วนอัตราคนที่เกินมานั้น อาจจะนำไปเพิ่มในส่วนที่เป็นพนักงานขับรถ เพื่อให้บริการประชาชนได้เพียงพอครับ” รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ขสมก. กล่าว
นายยุกต์ กล่าวต่อว่า ทาง ขสมก. ได้มีการประสานกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อเทรนนิ่งการฝึกวิชาชีพให้สำหรับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเรื่องนี้เคยดำเนินการมาหลายครั้งแล้ว แต่เรื่องแผนฟื้นฟูยังไม่มีความชัดเจน และโครงการเออร์ลี่ รีไทร์เป็นส่วนหนึ่งของแผนการฟื้นฟู จึงยังไม่ได้ดำเนินการ แต่ตอนนี้ทางกระทรวงคมนาคมให้กลับมาทบทวนใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของจำนวนคนและจำนวนเงิน ซึ่งต้องไปสำรวจอีกครั้ง
“สำหรับกระแสตอบรับของพนักงาน ขสมก.นั้น ต้องอธิบายก่อนว่า แผนการเออร์ลี่มีมานานแล้ว และพนักงานก็รู้กันอยู่ บางคนรออยู่ว่าเมื่อไรจะทำ เพื่อที่ว่าเขาจะได้มีเงินก้อนไปทำอย่างอื่นบ้าง” รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ขสมก. ระบุ
สำหรับผลกระทบของมาตรการลดบุคลากรของขสมก. จำนวน 2,000 คนนั้น ด้าน นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ให้ความเห็นว่า จะส่งผลกระทบต่อพนักงานที่มีฐานะเงินเดือนน้อย แต่อายุมาก เมื่อตกงานจะไปทำงานที่อื่นก็ลำบากเพราะอายุเยอะ ขณะที่ พนักงานที่มีเงินเดือนสูงมีภาระค่าใช้จ่ายผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือส่งลูกเรียน เงินก้อนนี้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งการลดคนครั้งนี้ จะเพิ่มอัตราการตกงานของประชาชนในประเทศขึ้น เพราะยังไม่มีอะไรมารองรับพนักงานเก็บค่าโดยสารเหล่านี้
นายวีระพงษ์ กล่าวต่อว่า มาตรการลดต้นทุนจากโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ นั้น หลักเกณฑ์ที่แท้จริงไม่ได้หมายความว่าจะต้องจ่ายให้ทุกคน คนละ 1 ล้านบาท โดยพนักงานเก็บค่าโดยสารบางคนทำงานมา 12 ปี เงินเดือนอย่างมาก 12,000 บาท แต่ถ้าให้ 1 ล้านบาทคนเหล่านี้เมื่อทำงานต่อไปไม่มีโอกาสที่จะได้ถึงล้านอยู่แล้ว ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงเห็นด้วยที่จะเกษียณ แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่
ทั้งนี้ วิธีคิดจะเอาเงินเดือนมาเป็นตัวตั้ง และจะต้องจ่ายไม่เกิน 20 เท่าของเงินเดือนอัตราสุดท้ายที่เข้าโครงการเกษียณ ซึ่งพนักงานเก็บค่าโดยสารที่เงินเดือนเต็มที่อย่างมากไม่เกิน 38,000 บาท ต้องทำงานไม่น้อยกว่า 30 ปี นอกนั้นคนที่อายุงาน 20 ปีก็ได้รับเงินเดือนประมาณ 20,000-25,000 บาท เมื่อ 2 ปีที่แล้วเริ่มสตาร์ตที่ 9,040 บาท
ดังนั้น พนักงานที่เงินเดือนน้อยเข้าโครงการเกษียณออกไปกลับได้เงินไม่กี่แสนบาทเท่านั้น ไม่ใช่ 1 ล้านบาทอย่างที่เข้าใจกัน
นายวีระพงษ์ ยังได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาในครั้งนี้ด้วยว่า...
1.พนักงานเก็บค่าโดยสารบางคนเรียนจบในสาขาวิชาที่สามารถทำงานต่อยอดได้ โดยให้สลับตำแหน่งในตำแหน่งที่ควรจะมี เช่น พนักงานประจำห้องแคชบ๊อกซ์ พนักงานประจำห้องจีพีเอส พนักงานควบคุมห้องอีทิกเกต พนักงานบัญชี พนักงานประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปโดยไม่ต้องเข้าโครงการเกษียณ
2.ตำแหน่งพนักงานขับรถโดยสารยังเป็นตำแหน่งที่มีความจำเป็นและยังขาดแคลน โดยปัจจุบันมีพนักงานขับรถโดยสาร 5,000 กว่าคน พนักงานเก็บค่าโดยสาร 4,000 กว่าคน ซึ่งปัจจุบันการจราจรติดขัดทำให้ระยะเวลาเดินรถยาวนานขึ้น จึงต้องหามาตรการแก้ปัญหาให้รถหมุนเวียนให้บริการประชาชนได้ ซึ่งทุกวันนี้ขาดอัตรากำลังพนักงานขับรถโดยสารอยู่แล้ว หลายเขตการเดินรถมีการประกาศรับสมัครอยู่ ดังนั้น อาจจะให้พนักงานเก็บค่าโดยสารที่มีความรู้มีใบอนุญาตในการฝึกขับรถมาเลื่อนขั้นมาเป็นพนักงานขับรถโดยสาร โดยไม่ต้องเปิดรับสมัครบุคลากรเพิ่มเติม
3.แม้มีระบบตั๋วร่วม หรือ ‘อีทิกเกต’ (E-Ticket) หรือ ระบบจ่ายเงินแบบหยอดเหรียญ หรือ แคชบ๊อกซ์ แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีพนักงานเก็บค่าโดยสารอยู่ เพราะจะต้องคอยดูแลให้บริการหรือให้คำแนะนำอยู่ประจำรถ เช่น การใช้บัตรอีทิกเกต หรือระบบแคชบ๊อกซ์ เนื่องจากรถที่ติดอีทิกเกตยังเป็นรถเดิมอยู่
4.พนักงานเก็บค่าโดยสาร บางส่วนจำนวน 100 กว่าคนที่มีตำแหน่งเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร แต่ไม่สามารถขึ้นปฏิบัติหน้าที่ได้ เนื่องจากเจ็บป่วยจากการทำงาน เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคกระดูก โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น ถือเป็นอัตราที่ไม่สามารถทำงานประจำได้ โดยให้ลงอู่ทำงานเบา ตนได้นำเสนอนายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม ให้คนกลุ่มนี้เข้าโครงการเกษียณก่อน เพื่อจะได้มีเงินบั้นปลายก้อนสุดท้าย เพราะเมื่อมาทำงานก็ไม่สามารถทำงานประจำได้ โดยต้องไปจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า หรือปล่อยรถ โดยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เดิมได้.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน