ย้อนรอยความทุกข์ร้อนของชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2556/2557 หลังจากที่นำข้าวไปเข้าโครงการและได้ใบประทวนมาถือไว้ในมือนานกว่า 4 เดือน นับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2556 เป็นประเด็นกดดันที่รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ณ ขณะนั้น ยังตีบตันหาทางออกไม่เจอ ว่าจะนำเงินที่ค้างกว่า 130,000 ล้านบาท จากที่ไหนมาจ่ายให้ชาวนา
รัฐบาลยกเหตุส่วนหนึ่งของการจ่ายเงินให้ชาวนาล่าช้าครั้งนี้มากล่าวอ้างว่า เป็นเพราะกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมกระทรวงการคลังนาน 3 สัปดาห์ ขณะเดียวกันหลังการยุบสภา รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการโครงการต่างๆ ได้ตามปกติ เพราะมีความเสี่ยงที่จะผิดต่อข้อกฎหมาย ทั้งการกู้เงินและการใช้งบประมาณที่จะมีผลผูกพันต่อรัฐบาลใหม่
ข้ออ้างดังกล่าวถือเป็นเพียงปลายเหตุของปัญหาจากโครงการรับจำนำข้าวที่ถูกหมักหมมปัญหาไว้ จนปะทุความล้มเหลวของโครงการออกมาจนยากจะเยียวยา
ถ้าย้อนกลับไปในวันที่ 7 ต.ค.2554 วันที่รัฐบาลกดปุ่มเริ่มเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งใช้วิธีการไม่แตกต่างจากโครงการรับจำนำข้าวในอดีต แต่ที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์คือ เป็นครั้งแรกที่เป็นการรับจำนำแบบไม่มีการจำกัดปริมาณ หรือที่เรียกว่ารับจำนำทุกเมล็ด แถมราคายังสูงกว่าราคาตลาดมาก โดยราคาข้าวเปลือกเจ้าอยู่ที่ตันละ 15,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 20,000 บาท ตามที่พรรคเพื่อไทยประกาศหาเสียงไว้
ในวันเดียวกันนั้น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีหนังสือด่วนมาที่ ปช 0003/0118 ส่งรายงานผลการศึกษาวิจัยมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต ซึ่ง ป.ป.ช.ว่าจ้างให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการวิจัยให้รัฐบาลพิจารณา
รายงานผลการศึกษาวิจัยฉบับดังกล่าวเป็นการศึกษาโครงการรับจำนำในฤดูนาปี ปีการผลิต 2548/2549 ระบุชัดเจนว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกก่อให้เกิดภาวะขาดทุนเป็นเงินมหาศาล ก่อให้เกิดปัญหาวินัยการคลัง และประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ได้ตกแก่ชาวนา แต่ตกแก่ผู้ส่งออก โรงสี เจ้าของโกดัง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิหนำซ้ำชาวนาส่วนใหญ่ที่ได้ประโยชน์คือชาวนาที่มีฐานะในเขตชลประทาน
นอกจากนี้ การแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐยังก่อผลกระทบรุนแรงต่อความสามารถในการส่งออก ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวสูงขึ้น แต่คุณภาพข้าวต่ำลง พ่อค้าส่งออกข้าวรายใหญ่ได้เปรียบพ่อค้าส่งออกข้าวรายอื่นๆ เป็นการแทรกแซงบิดเบือนกลไกตลาดทำให้การแข่งขันลดลง
ยิ่งกว่านั้น การแทรกแซงยังก่อให้เกิดพฤติกรรมการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเกิดการทุจริตในทุกระดับ รายงานวิจัยฉบับดังกล่าวระบุชัดเจนว่า โครงการรับจำนำข้าวควรจะต้องถูกยกเลิก และเสนอให้ใช้วิธีการประกันความเสี่ยงด้านราคาข้าว ซึ่งแน่นอนว่าต้องถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
เมื่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขับเคลื่อนนโยบายรับจำนำข้าวไป 1 รอบการผลิตคือข้าวนาปี ปี 2554/2555 ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเริ่มผุดเป็นดอกเห็ด ทั้งการสวมสิทธิ์เกษตรกร การนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์เข้าโครงการ และการยักยอกขนข้าวจากสต็อกไปขาย
ก่อนที่จะถลำลึกลงไป ไม่ให้ซ้ำรอยกับโครงการรับจำนำข้าวที่ล้มเหลวมาในอดีต ทาง ป.ป.ช.ได้มีหนังสือเตือนรัฐบาลอีกครั้งลงเลขที่ ปช 0003/1198 วันที่ 30 เม.ย.2555 ส่งข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตกรณีการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการรับจำนำข้าวเปลือกส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาคำเตือนครั้งนี้ ป.ป.ช.ระบุว่า หลังจากส่งหนังสือเตือนให้รัฐบาลครั้งแรกและได้เฝ้าศึกษา ติดตาม และเฝ้าระวังการทุจริตโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง พบว่าเกิดปัญหาด้านต่างๆ มากมายเช่นในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะในการทุจริตทั้งในเชิงนโยบายและในส่วนของขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินโครงการ
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลยังคงต้องดำเนินโครงการต่อไป เนื่องจากเป็นนโยบายหลักสำคัญที่หาเสียงไว้กับประชาชนและแถลงต่อรัฐสภา ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินโครงการบังเกิดประโยชน์และเป็นธรรมแก่เกษตรกรที่ปลูกข้าวจริงและสุจริต รวมทั้งเป็นการป้องกันการทุจริตและป้องกันมิให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวก่อให้เกิดความสูญเสียด้านงบประมาณ ป.ป.ช. จึงมีข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาสาระสำคัญดังนี้
กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกแต่ละชนิดให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรรับภาระอยู่ โดยอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลและไม่บิดเบือนกลไกตลาด พร้อมมุ่งช่วยเหลือเกษตรกรให้ลดต้นทุนการผลิตข้าว
ขณะเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียงบจำนวนมากจากการเก็บรักษาข้าวเป็นเวลานานส่งผลให้เกิดความเสียหาย เสื่อมคุณภาพ สูญเสียน้ำหนักและป้องกันการทุจริตที่จะเกิดขึ้น หน่วยงานที่รับผิดชอบควรกำหนดแผนการบริหารจัดการระบายข้าวที่เก็บรักษาไว้ในโกดังกลางอย่างเป็นระบบ และมีการปิดบัญชีโครงการ พร้อมรายงาน กขช.โดยเร็วอย่างต่อเนื่อง และให้รัฐบาลติดตามและประเมินผลโครงการรับจำนำข้าวอย่างเป็นรูปธรรม
แต่ทาง ครม.ยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในการยกระดับราคาพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งเป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรในชนบทตามแนวนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาทุกประการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ยืนยันว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวมีมาตรการและกลไกในการควบคุมกำกับดูแลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีระบบการตรวจสอบให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้
และเพื่อให้การดำเนินโครงการทั้งในระดับพื้นที่และในระดับปฏิบัติการมีประสิทธิภาพและป้องกันการทุจริต จึงมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) ในขณะนั้น สั่งการให้หน่วยงานในกำกับ ดำเนินการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในระดับปฏิบัติ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ให้ความร่วมมือ หากตรวจสอบพบกรณีทุจริตให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
คำเตือนและข้อเสนอแนะในโครงการรับจำนำข้าวที่ “ทีมเศรษฐกิจ” ยกมาข้างต้นเป็นคำเตือนที่มีผลทางกฎหมาย ยืนยันว่ารัฐบาลได้รับรู้คำเตือนและข้อเสนอแนะเรียบร้อยแล้ว ยังไม่นับรวมคำเตือนที่เป็นประโยชน์อีกมากมายจากหลายฝ่ายทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญวงการค้าข้าว หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ ที่คอยให้คำปรึกษาในฝ่ายรัฐบาลเอง
ปัจจุบันคงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ความล้มเหลวของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวที่เกิดขึ้น มาจากความดื้อรั้นไม่ฟังเสียงคำเตือนของรัฐบาลนั่นเอง และนำมาซึ่งภาระงบประมาณอันใหญ่หลวงที่จะต้องนำภาษีของประชาชนทุกคนมาชำระคืนจากการขาดทุนในโครงการจำนวนมากหลายแสนล้านบาท
ขณะที่เงินหมุนเวียนที่ใช้ในโครงการขณะนี้จมอยู่ในข้าวที่รับจำนำไว้ในสต็อก เพราะขายไม่ได้ตามเป้าจนเงินหมดหน้าตัก ชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่มีมาจ่ายให้ชาวนา รวมไปถึงปัญหาที่รอวันจุดชนวนระเบิดในอนาคตข้างหน้าอีกมากมายที่ต้องตามแก้ไขไม่จบสิ้น ทั้งภาระค่าเช่าโกดังในการเก็บรักษาข้าว ข้าวเสื่อมคุณภาพจากการระบายไม่ได้ ราคาจะตกลงไปเรื่อย หรือการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลออกมาในราคาถูกจะทำให้ราคาข้าวในตลาดยิ่งตกลงไปมากขึ้น
ที่สำคัญคือการทุจริตคอร์รัปชันที่ยังเกิดขึ้น ปล่อยปละละเลยให้มีการแอบขนข้าวในสต็อกไปขาย จะนำมาซึ่งปัญหาสต็อกลมในอนาคต ตัวเลขสต็อกข้าวจะค้างในบัญชีนานจนเหมาะสมที่รัฐบาลจะใช้เป็นข้ออ้างว่าข้าวเสื่อมคุณภาพต้องทำลายทิ้ง หรือขายราคาถูกเพื่อนำไปทำเป็นอาหารสัตว์หรือเอทานอล ล้วนเป็นการทำลายหลักฐานให้กับผู้กระทำผิด เป็นช่องทางการทุจริตซ้ำรอยกับที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตทั้งสิ้น.