ภาคเอกชนหารือ “มีชัย” ปมปัญหากฎหมายแรงงานต่างด้าว โดยขอให้เอกชนเสนอประเด็นที่ต้องการให้มีการแก้ไข พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 ขณะที่สมาคมภัตตาคารไทยชี้แรงงานต่างด้าวทำงานในอาชีพสงวนของคนไทย จนนายจ้างถูกเรียกรับส่วย ย้ำกฎหมายเดิมใช้มาเกือบ 40 ปี ควรแก้ไขให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า กรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รับมอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ไปแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และรับฟังความเห็นของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา สมาคมภัตตาคารไทย และอีก 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมเกษตรกรชายแดน ได้เข้าไปชี้แจงต่อที่ประชุมที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ถึงปัญหาที่ได้รับความเดือดร้อน
“จากการหารือกันพบว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทย ยังมีลักษณะการทำงานที่ขัดกับกฎหมายไทยอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะข้อกำหนดที่ระบุว่า แรงงานต่างด้าวจาก 3 ประเทศ คือ เมียนมา กัมพูชา ลาว ทำงานในไทยได้เพียง 2 อาชีพเท่านั้น คือกรรมกรและผู้รับใช้ในบ้าน จึงเท่ากับว่า หลายอาชีพที่คนงานต่างด้าวทำอยู่ในไทยผิดกฎหมาย และยังทำงานในส่วนที่เป็นอาชีพสงวนของคนไทย ประเด็นเหล่านี้จึงต้องแก้ไขไปด้วย เพราะกฎหมายที่กำหนดการทำงานของคนต่างด้าวใช้มาตั้งแต่ปี 2522 หรือเกือบจะ 40 ปีมาแล้ว”
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเราเข้าใจผิดหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าว เพราะถ้ายึดหลักตาม 39 อาชีพสงวนสําหรับคนไทยในอุตสาหกรรมก่อสร้าง งานก่ออิฐ ก็ไม่สามารถทำได้ ส่วนในสาขาที่เกี่ยวกับสมาคมภัตตาคารไทย เท่ากับว่าการเป็นพนักงานเสิร์ฟหรือขายของหน้าร้านก็ผิดกฎหมาย และจากการหารือกับร้านอาหารหลายแห่งพบว่า ร้านอาหารส่วนใหญ่แม้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวถูกต้อง แต่ยังต้องจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายหน่วยงาน
ขณะที่ในด้านธุรกิจก่อสร้างได้ระบุในที่ประชุมด้วยว่า ในกลุ่มของพวกเขา แรงงานไม่ได้ไปลงทะเบียนตามที่รัฐบาลขยายเวลาให้ และจะรอจนถึง 180 วัน คือภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ ที่รัฐบาลกำหนดให้อยู่ในประเทศไทยได้ เพราะแม้ว่าจะส่งไปลงทะเบียน ก็อยู่ในประเทศไทยได้จนถึงเดือน มี.ค.2561 จึงเป็นเหตุให้แม้ว่ารัฐบาลขยายเวลาการไปลงทะเบียนคนงานต่างด้าวในไทย จนถึงเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ไปลงทะเบียนเพียง 700,000 คน
นางฐนิวรรณกล่าวว่า นายมีชัยได้กล่าวในที่ประชุมว่าตามที่ภาคเอกชนระบุว่า มีคนต่างด้าวที่อยู่ในไทยมากกว่า 8-10 ล้านคน ถ้ากระทรวงแรงงานบริหารได้ไม่ดี ก็ให้จัดทำข้อเสนอมาว่า ควรบริหารอย่างไร เช่น แต่ละสมาคมรับไปบริหารจัดการ การนำเข้าแรงงานต่างด้าวเองหรือไม่ และให้แต่ละสมาคมไปรวบรวมข้อมูลมานำเสนอที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2522 ว่าด้วยเรื่องอาชีพที่สงวนไว้ให้คนไทย 39 อาชีพ จำกัดไว้ให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติลาว กัมพูชา เมียนมา มาทำได้เพียงแค่กรรมกรและรับใช้ในบ้านเท่านั้น หรือภาคเอกชนยังต้องการให้มีการแก้ไขเรื่องใดใน 145 มาตราที่อยู่ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 และบทลงโทษที่ปรับนายจ้างจากที่กำหนด 400,000-800,000 บาท อาจเริ่มต้นที่ 50,000 บาท
“ปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวของแต่ละสมาคมมีลักษณะคล้ายๆกัน โดยเฉพาะเรื่องการทำงานข้ามเขต เช่น ทำงานในเขตพระนคร แต่ต้องไปทำจัดเลี้ยงในอีกเขตหนึ่งก็โดนจับ หรือธุรกิจก่อสร้างพื้นที่คนงานอยู่ในกรุงเทพฯแต่ไปทำที่ปทุมธานีก็ผิดเหมือนกัน แต่ตรงนี้ในส่วนของก่อสร้าง มีการแก้ไขให้ขออนุญาตเพิ่มเติมไปได้ 4 จังหวัด”
นอกจากนี้ ในข้อเท็จจริงมีคนงานต่างด้าวที่อยู่ในไทยจำนวนมาก มีหลายคนที่ไม่มีเอกสาร อะไรเลย แต่มาอยู่ในบ้านเราได้ หรือบางคนมีพาสปอร์ต และใช้วีซ่านักท่องเที่ยวเข้ามาทำงาน พออยู่ได้ 2 เดือน ก็เดินทางออกไปชายแดนและประทับตราบนพาสปอร์ตกลับเข้ามาใหม่.