นายกฯ เปิดรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย เตาปูน-บางซื่อ คนทั่วไปใช้บริการได้เที่ยงนี้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

นายกฯ เปิดรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย เตาปูน-บางซื่อ คนทั่วไปใช้บริการได้เที่ยงนี้

Date Time: 11 ส.ค. 2560 09:23 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • นายกรัฐมนตรี เปิดให้บริการเชื่อมต่อ 1 สถานี เตาปูน-บางซื่อ ดีเดย์หลัง 12.00 วันนี้ ประชาชนเดินทางเชื่อมต่อสะดวก รถไฟฟ้าสายสีม่วง-รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจากบางใหญ่-หัวลำโพง ...

Latest


นายกรัฐมนตรี เปิดให้บริการเชื่อมต่อ 1 สถานี เตาปูน-บางซื่อ ดีเดย์หลัง 12.00 วันนี้ ประชาชนเดินทางเชื่อมต่อสะดวก รถไฟฟ้าสายสีม่วง-รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจากบางใหญ่-หัวลำโพง ...

เวลา 09.00 น. วันที่ 11 สิงหาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ภายใต้แนวคิด “ร่วมใจ เชื่อมสุข เพื่อประชาชน” โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอกวิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการ (บริหาร) รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม. นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร รฟม. และคณะผู้บริหาร BEM เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ณ สถานีเตาปูน เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ

นายฤทธิกา กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-บางซื่อ เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีเตาปูน ของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) และสถานีบางซื่อ ของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) มีระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร ซึ่ง รฟม. ได้เร่งรัดให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ผู้รับจ้างงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า จัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถ ดำเนินงานโครงการโดยเร็วเพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล จนสามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ในวันนี้ ซึ่งจะสามารถย่นระยะเวลาการเดินทางช่วงเตาปูน-บางซื่อ เหลือประมาณ 2 นาที

ผู้โดยสารสามารถเดินทางข้ามระบบได้โดยเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีเตาปูน และจ่ายค่าแรกเข้าระบบเพียงครั้งเดียวสำหรับผู้ถือบัตรโดยสาร MRT และ MRT Plus ซึ่งหลังจากเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว หลังเวลา 12.00 น. จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางจากบางใหญ่-หัวลำโพง ได้เลย

นอกจากนี้ รฟม. ยังคงอัตราค่าโดยสารของสายฉลองรัชธรรมตามโปรโมชั่นเดิมจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2561 คือ โปรโมชั่นอัตราค่าโดยสาร 14-29 บาท ในวันทำงาน และโปรโมชั่นค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

ส่งผลให้อัตราค่าโดยสารร่วมระหว่างระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมและสายเฉลิมรัชมงคล เป็นดังนี้ 1) อัตราค่าโดยสารร่วมในวันทำงาน อยู่ระหว่าง 14-57 บาท สำหรับผู้ถือบัตรโดยสาร MRT และ MRT Plus ประเภทบุคคลทั่วไป 2) อัตราค่าโดยสารร่วมในวันทำงาน อยู่ระหว่าง 14-70 บาท สำหรับผู้ถือเหรียญโดยสาร (Token) 3) อัตราค่าโดยสารร่วมในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ อยู่ระหว่าง 14-43 บาท สำหรับผู้ถือบัตรโดยสาร MRT และ MRT Plus ประเภทบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้ถือเหรียญโดยสาร (Token)

ด้าน นายปลิว เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเชื่อมต่อ 1 สถานี ระหว่างเตาปูน-บางซื่อ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเชื่อมต่อการเดินรถต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) ระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) และสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) โดยสามารถดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ในระยะเวลาเพียง 5 เดือน BEM ในฐานะผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมและสายเฉลิมรัชมงคล มีความมั่นใจในความพร้อมทุกด้าน ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เชื่อถือได้และตรงเวลา บนโครงข่ายที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งผู้โดยสารสามารถเดินทางต่อเนื่องจากสถานีหัวลำโพงสู่สถานีคลองบางไผ่ โดยเปลี่ยนขบวนรถ ที่สถานีเตาปูน และสามารถใช้บัตรโดยสาร MRT และ MRT Plus ในการเดินทางเพียงใบเดียวเท่านั้น และผู้โดยสารพื้นที่จังหวัดนนทบุรีสามารถเดินทางเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ ได้อย่างรวดเร็ว สะดวกสบาย

ทั้งนี้ ภายหลังจากการทำพิธีเปิดให้บริการโครงการฯ แล้วเสร็จ พลเอกประยุทธ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ผู้บริหาร รฟม. และผู้บริหาร BEM ได้ร่วมโดยสารรถไฟฟ้าสาย สีน้ำเงิน จากชานชาลาชั้น 3 ของสถานีเตาปูน ไปตามทางวิ่งลดระดับลงลอดอุโมงค์ที่สถานีบางซื่อและเดินทางต่อเนื่องไปยังสถานีกำแพงเพชร ของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล

จากนั้น พลเอกประยุทธ์ และคณะฯ ได้เดินทางโดยรถยนต์ไปยังสถานีสนามไชย เพื่อเยี่ยมชมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และนั่งรถรางลอดอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้แม่น้ำเจ้าพระยาจากสถานีสนามไชย ไปยังสถานีอิสรภาพ เพื่อเยี่ยมชมความคืบหน้าในการดำเนินงานออกแบบตกแต่งสถาปัตยกรรมภายในของสถานีรถไฟฟ้าทั้งสองแห่ง

พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการ รฟม. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วน ต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีระยะทางรวมประมาณ 27 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ 1) ช่วงหัวลำโพง-บางแค ประกอบด้วยโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 4 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้ายกระดับจำนวน 7 สถานี รวมถึงมีศูนย์ซ่อมบำรุงจำนวน 1 แห่ง และอาคารจอดแล้วจรจำนวน 2 แห่ง 2) ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ประกอบด้วยโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับทั้งหมด ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้ายกระดับจำนวน 8 สถานี โดย รฟม. ได้มุ่งเน้นออกแบบก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายฯ ให้มีความกลมกลืนกับประวัติศาสตร์ความเป็นมา และสัญลักษณ์เชิงพื้นที่

ได้แก่ สถานีสนามไชย มีการออกแบบโดยจำลองท้องพระโรงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ให้ความรู้สึกที่งดงาม ตระการตา สถานีอิสรภาพ มีการตกแต่งภายในเป็นลักษณะเสารูปหงส์ ซึ่งถือเป็นสัตว์สิริมงคลและศักดิ์สิทธิ์และเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่ สื่อถึงวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร สถานีวัดมังกร มีการออกแบบสถาปัตยกรรมจีนมาผสมผสานกับรูปแบบยุโรป หรือเรียกว่าสไตล์ชิโนโปรตุกีส สอดคล้องกับวิถีชีวิต วิถีการค้าชาวจีน สภาพแวดล้อมโดยรอบ เช่น เยาวราช และสถานีสามยอด มีการออกแบบภายนอกสถานีเน้นสถาปัตยกรรมย้อนยุค โดยยึดรูปแบบตามสไตล์ชิโนโปรตุกิส ให้สอดคล้องกับอาคารริมถนนเจริญกรุง

โดยปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายฯ มีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาในภาพรวม 94.62% (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2560) ซึ่งขณะนี้ BEM ได้จัดซื้อรถไฟฟ้าจากบริษัท ซีเมนส์ จำกัด ประเทศเยอรมนี จำนวน 35 ขบวน และคาดว่าจะสามารถเปิดเดินรถ ช่วงหัวลำโพง-บางแค ได้ในปี 2562 และเปิดเดินรถ ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ได้ในปี 2563


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ