แด่...ผู้สูงวัยที่รัก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แด่...ผู้สูงวัยที่รัก

Date Time: 8 ส.ค. 2560 05:01 น.

Latest

เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 กับ 4 ความผิด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง

เป็นที่ฮือฮา...อีกแล้ว หลังจากว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบกับมาตรการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุ ฉบับที่ พ.ศ. ......โดยมีสาระสำคัญ คือปรับขึ้นอัตราภาษีสุรา เบียร์และยาสูบ หรือที่เรียกกันว่าภาษีบาป (Sin tax) ของกรมสรรพสามิตเพิ่มขึ้นอีก 2% ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกปีละ 4,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินดังกล่าวไปสมทบเข้ากองทุนผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังวางแผนที่จะจัดโครงการให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้ดีหรือร่ำรวย ยอมสละสิทธิ์เบี้ยยังชีพด้วยวิธีการบริจาคเงิน (สมัครใจ) เพื่อสมทบเข้ากองทุนผู้สูงอายุ โดยประเมินว่าจะมีผู้ยอมสละสิทธิ์ประมาณ 500,000 คน หรือคิดเป็นเงิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งผู้สละสิทธิ์จะได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติเพื่อเป็นแรงจูงใจด้วย

เมื่อรวมอัตราเก็บเพิ่มภาษีบาปอีก 2% แล้ว จะทำให้มีเงินไหลเข้ากองทุนผู้สูงอายุเพิ่มอีกประมาณปีละ 8,000 ล้านบาท เงินจำนวนนี้หากนำไปเฉลี่ยให้แก่ผู้สูงอายุทั้ง 3.5 ล้านคนทั่วประเทศ จะทำให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มคนละประมาณ 100 บาท แม้จะเป็นจำนวนเงินที่เล็กน้อยมาก แต่หากนับรวมหลายๆ มาตรการที่รัฐบาลได้ประกาศช่วยเหลือไปแล้ว ถือว่ารัฐบาลชุดนี้จัดให้หนักกว่ารัฐบาลไหนๆ

โดยช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและรองรับสังคมผู้สูงอายุไปทั้งหมด 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1. มาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนบริษัทเอกชนจ้างคนอายุเกิน 60 ปีเข้าทำงาน สามารถนำรายจ่ายมาหักภาษีได้ 2 เท่า 2. มาตรการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ แบบครบวงจร (Senior Complex) 3.มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage : RM) รูปแบบใหม่ของสินเชื่อ ด้วยการให้ผู้สูงอายุที่มีบ้าน คอนโดมิเนียม แบบปลอดภาระหนี้ มาขอสินเชื่อกับธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยรับเงินเป็นรายเดือน เพื่อใช้ดำรงชีพ โดยสามารถพักอาศัยในที่อยู่ดังกล่าวได้จนกว่าจะเสียชีวิต และ 4.มาตรการเรื่องบำเหน็จบำนาญ ซึ่งขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ไปแล้ว มีเป้าหมายให้แรงงานหลังเกษียณมีรายได้ต่อเดือน 50% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย

โดยสาเหตุที่รัฐบาลพยายามผลักดันเรื่องการช่วยเหลือสังคมผู้สูงอายุนั้น เนื่องมาจากสังคมไทยที่กำลังเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Ageing Society โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ประเมินว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า (ปี 2564) สังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aging Society) โดยมีจำนวนผู้สูงอายุ 14 ล้านคน หรือ 20% ของประชากรทั้งหมด และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุสุดยอด (Super Aging Society) ในอีก 18 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีผู้สูงอายุคิดเป็น 30% ของประชากรทั้งหมดเปรียบเทียบกับเมื่อปี 2546 มีประชากรอายุเกิน 60 ปี จำนวน 6.6 ล้านคน คิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมด จากนั้นในปี 2558 จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 10.5 ล้านคน หรือ 16%

การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแต่ละช่วงระยะเวลาจะมีผลกระทบต่อประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย หากรัฐบาลไม่คิดหรือเตรียมวางแผนรองรับแต่เนิ่นๆ เพราะผลสำรวจประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทยในปี 2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนหรือประมาณ 30,000 บาทต่อปี

ขณะที่สวัสดิการความช่วยเหลือหลักๆที่ผู้สูงอายุได้รับนั้นมาจากบุตรหลานมากที่สุดคือ 37% มาจากการทำงานเอง 34% ส่วนผู้สูงอายุที่มีรายได้จากเบี้ยยังชีพของรัฐบาลมีเพียง 15% แบ่งออกเป็นอายุ 60-63 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาทต่อเดือน อายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาทต่อเดือน อายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาทต่อเดือน และหากมีอายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 บาทต่อเดือน

ขณะที่ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งหรือขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู โดยไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จะได้รับเงินช่วยเหลืออีกเดือนละ 300 บาท รวมแล้วผู้สูงอายุจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเดือนละ 900-1,300 บาท แล้วแต่ช่วงอายุ

จึงน่าเป็นห่วงว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า หากสังคมไทยเข้าสู่ยุค Aging Society แล้ว ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในสังคมไทยจะอยู่กันอย่างไร หากรัฐบาลไม่วางแผนให้ดี จะมีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถยังชีพหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยชราได้ นอกจากนั้น ในปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลยังได้ใช้เงินในการจ่ายเบี้ยยังชีพสูงถึง 70,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกๆปีด้วย.

วรรณกิจ ตันติฉันทวงศ์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ