นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ น.ส.อิศราภรณ์ คงฉวี ผู้แทนเจ้าของคลังวรโชติ (หลัง 2) ชี้แจงกรณีโกดังข้าว 8 แห่ง เรียกร้องรัฐบาลระงับการระบายข้าวในสต๊อก เพราะข้าวยังมีคุณภาพดี แต่รัฐกลับขายเป็นอาหารสัตว์ได้ราคาต่ำ ว่า สาเหตุที่เกิดขึ้นมาจากการตีความคุณภาพข้าวที่แตกต่างกัน ซึ่งถือเป็นกรณีแรกที่เจ้าของคลังออกมาเรียกร้องเช่นนี้ ในฐานะสมาคมโรงสีข้าวไทยมองว่า ทางออกของปัญหานี้ภาครัฐต้องประเมินถึงผลกระทบก่อน และทางออกที่ดีคือการเจรจากับผู้ประมูลข้าว และตรวจสอบคุณภาพข้าวใหม่ ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับคุณภาพข้าวที่ตรงกัน ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด
“ปัญหาเกิดจากกระบวนการคัดเกรดคุณภาพข้าวที่แบ่งออกเป็นกลุ่มเอ, บี และซี หรือข้าวเพื่อการบริโภค ข้าว เพื่ออาหารสัตว์ และข้าวเพื่อพลังงาน เจ้าของคลังที่ออกมาระบุว่าไม่ทราบหลักเกณฑ์การแบ่งกลุ่มที่ชัดเจน รู้เพียงว่าข้าวในคลังของตนเป็นข้าวประเภทใด มีคุณภาพอย่างไร แต่ไม่ทราบว่าข้าวเหล่านั้นถูกคัดเกรดอย่างไร จึงถูกขายไปเป็นอาหารสัตว์ เมื่อดำเนินการมาถึงขั้นตอนประมูล เจ้าของคลังจะต้องรับผิดชอบจากส่วนต่างราคา จึงต้องโต้แย้ง”
อย่างไรก็ตาม การตรวจคุณภาพข้าวที่ผ่านมา จะยึดหลักมาตรฐานการตรวจสอบของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับ เนื่องจากเป็นมาตรฐานที่ใช้มานานแล้ว แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ในฐานะเจ้าของคลังต้องการทราบถึงหลักเกณฑ์ที่กรมการค้าต่างประเทศใช้คัดเกรดข้าว และแบ่งกลุ่ม รวมถึงข้อจำกัดที่ไม่สามารถนำข้าวไปประมูลเพื่อการบริโภคได้ ดังนั้นหากมีข้อโต้แย้งเช่นนี้ และรัฐบาลประเมินแล้วว่าการตรวจสอบใหม่ไม่ได้เสียหายมาก ก็น่าจะกลับมาตรวจสอบให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องและยอมรับได้
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า มาตรฐานการตรวจสอบข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการถือเป็นมาตรฐานระดับสากลแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่า ข้าวที่อยู่ในสต๊อกรัฐจากการประมูลปริมาณ 18 ล้านตัน ไม่สามารถตรวจสอบครบทั้ง 100% ได้ หากจะตรวจครบต้องใช้เวลาประมาณ 40 ปี รัฐจึงใช้วิธีสุ่มตรวจกองละ 5-10% เพื่อแยกคุณภาพข้าวดีและข้าวเสื่อม ซึ่งก็อยากให้ทุกฝ่ายยอมรับในขั้นตอน และให้รัฐเดินหน้าประมูลข้าวต่อไป.